ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊ก เนื้อหาว่า “รัฐบาลไม่สนับสนุนทุนวิจัยโครงการวัคซีนไทย ChulaCov 19 จริงหรือ? ”
จากการที่ เพจ Origimon ได้นำเสนอบทความ ที่มาจากการสัมภาษณ์ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม หัวหน้าโครงการวัคซีนโควิดของไทย ChulaCov19 ในวารสาร Nature โดยในตอนหนึ่ง ได้ระบุคำสัมภาษณ์ของคุณหมอเกียรติว่า “ประสบกับปัญหาการสนับสนุนของรัฐบาลในเรื่องทุนวิจัย” ทำให้ผู้อ่าน จำนวนมากเข้าใจว่า รัฐบาล “ไม่สนับสนุน” ทุนวิจัยโครงการนี้
ซึ่งหากเข้าไปดูบทความต้นฉบับแล้ว คำที่คุณหมอให้สัมภาษณ์นั้นคือ “As we are an academic centre, the majority of support is from the government. We had interesting preclinical results as early as May 2020, but it took almost six months to get the funds to start human trials.”
หรือแปลได้ว่า “ในฐานะศูนย์ทางวิชาการ เงินสนับสนุนส่วนใหญ่นั้น มาจากรัฐบาล เราได้ผลเบื้องต้นที่น่าสนใจ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 แต่ใช้เวลาเกือบ 6 เดือน ในการได้รับทุน เพื่อเริ่มการทดลองในมนุษย์” ซึ่งเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์ต้นฉบับแล้ว ก็จะเห็นว่า มีรายละเอียดที่ค่อนข้างต่างกันแล้ว ที่บทความของ เพจ Origimon ได้ใช้คำที่อาจทำให้เข้าใจต่างออกไป
แล้วความเป็นจริงเป็นอย่างไร?
ข้อเท็จจริงก็คือ โครงการนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านทาง สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (National Vaccine Institute – NVI) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แต่การเบิกงบประมาณของราชการ ย่อมมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่เราเข้าใจดี จึงต้องอาศัยเงินบริจาคเพิ่มเติม ทั้งกองทุนศตวรรษที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทและภาคประชาชนต่าง ๆ ในระหว่างที่รองบประมาณจากรัฐ
ส่วนอุปสรรคใหญ่จริง ๆ ที่คุณหมอเกียรติ ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐ กลับไม่ใช่เรื่องเงินทุน แต่เป็นเรื่องการหาโรงงานที่มีเทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งกว่าจะหาได้ก็เดือนธันวาคม อันที่จริง โครงการวัคซีน ChulaCov19 นั้น เท่าที่ผมเห็น ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค. (ซึ่งผมเข้าประชุมด้วย) มาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้น กลาง ๆ ปีที่แล้ว และนำเสนอความก้าวหน้า ตั้งแต่การทดลองในลิงจนถึงตอนนี้ รวมถึง โครงการของบริษัทใบยาด้วย และรัฐบาลก็ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งทั้งสองโครงการ และที่ประชุมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่เคยปิดกัน หรือลังเล เพราะเป็นของไทยเอง และก็เป็นที่น่าดีใจที่ทั้งสองโครงการมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก คุณภาพเทียบเท่าไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า แต่เก็บรักษาง่ายกว่าอีกด้วย https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2100755
จึงสรุปได้ว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการวิจัยวัคซีนไทย ChulaCov19 อย่างเต็มที่ และเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยเสริมความมั่นคงทางวัคซีนให้กับ ประเทศไทยในระยะยาวได้เป็นอย่างมากครับ