‘เพิ่มพูน’ ย้ำโปรดฟังอีกครั้ง “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ”

กดติดตาม TOP NEWS

21 มิถุนายน 2567/ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้แจงคำของบประมาณฯ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ) ณ อาคารรัฐสภา

รมว.ศธ. กล่าวในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ) ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ฝั่ง คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งเป้าหมายหลักในการจะมีความสุขได้ก็คือการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งนี้จากนโยบายที่ได้เคยแถลงไปและดำเนินการไปแล้ว ศธ. ยังมีการดำเนินการนโยบายเพิ่มเติมที่น่าสนใจ เช่น การยกเลิกครูเวร การจัดจ้างนักการภารโรง การปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ดำเนินการจ้างครูผู้ช่วยเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น ส่วนทางด้านนักเรียน ศธ.ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้รับมติเห็นชอบในการจัดหาอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนขยายโอกาส รวมทั้งเห็นชอบและอนุมัติเรื่องศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล โดย ศธ.ได้จัดทำคำของบประมาณมาในร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 นี้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ในส่วนของ ศธ.ได้ขับเคลื่อนโครงการ “สุขาดีมีความสุข” โดยเบื้องต้นได้ดำเนินการสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กไปก่อน รวมทั้งดำเนินแนวทางนโยบายการยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไปพลางก่อน โดยในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 จะมีการจัดทำเรื่องงบอุดหนุนที่จำเป็นในเรื่องของเครื่องแบบ ให้เป็นไปตามอัตรามติของ ครม. คือ อัตราร้อยละ 2 ร้อยละ 4 และปีนี้เป็นอัตราที่ร้อยละ 16 ก็จะมาขึ้นอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ความท้าทายสำคัญของการศึกษาที่เราทำอยู่คือเรื่องการศึกษาของเด็กปฐมวัย ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการขับเคลื่อน ซึ่งมีการปรับรูปแบบให้หน่วยงานที่ขับเคลื่อนหลักเป็น ศธ. โดยให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขาคณะทำงานในการขับเคลื่อนทุกจังหวัด ดังนั้นงบประมาณจึงต้องมาอยู่ใน ศธ. ด้วย

สำหรับเรื่องเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา และกลุ่มเด็กเปราะบาง ทำอย่างไรให้การศึกษาไร้รอยต่อ โดย ศธ.จะทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสแกนหาเด็กกลุ่มต่าง ๆ ที่หลุดจากระบบไป นำเขากลับเข้ามาในระบบให้ได้

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนที่ผู้ปกครองนักเรียนมีฐานะยากจน เราจำเป็นต้องมาหาวิธีลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งกลไกหลักที่จะมาตอบรับคือ การศึกษา Anywhere Anytime และการสอบเทียบต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณ โดยมีในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 แล้วส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเข้ามามีบทบาทของระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะมีส่วนช่วยในการดำเนินการศึกษา โดย ศธ.พยายามที่จะพัฒนาครูให้มีคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน และเป็นส่วนหนึ่งของการขอประเมินวิทยฐานะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครูได้มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไปให้ก้าวทันโลก ตลอดจนมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ซึ่งหากชำรุดก็ต้องซ่อมแซมบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยความจำกัดด้านงบประมาณแต่เมื่อพิจารณาความจำเป็นแล้ว ศธ.จะพยายามบริหารงบประมาณอย่างจำกัดในการทำงานให้ได้ดีที่สุด

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ภาพรวมงบประมาณของ ศธ. ย้อนหลัง 6 ปี (2563-2568) เห็นได้ว่าปี 2563 งบประมาณจะได้สูง จากนั้นแนวโน้มต่ำลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง ปี 2567 จึงได้รับการพิจารณางบประมาณสูงขึ้น และในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา มีการปรับงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากเทียบจากปี 2568 กับปี 2563 ยังคงลดลงคิดเป็นร้อยละ 6.11 ขณะที่โครงสร้างงบประมาณปี 2568 จำนวน 340,584 ล้านบาท มีงบในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพียง 11.14% จากที่ได้รับการจัดสรร

“ศธ.อยากขอความกรุณาให้สมาชิกผู้ทรงเกียรติลงความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และขอฝากผ่านไปยังผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาทุกท่านว่า ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องเฉพาะของ ศธ. แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาและปรับเปลี่ยนการศึกษา ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งคงไม่สามารถทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ หรือเพียงแค่ปฏิรูปการศึกษา แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน จึงขอเชิญชวนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ พี่น้องประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยกันปฏิวัติการศึกษาแก้ปัญหาประเทศ และโปรดฟังอีกครั้ง ‘ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ’” รมว.ศธ. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น