logo

“วราวุธ” ห่วงภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง กังวลกระทบสังคมไทย-กลุ่มเปราะบาง

“วราวุธ” ขับเคลื่อน พม. รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ยอมรับ กังวลส่งผลกระทบต่อสังคมไทย-กลุ่มเปราะบาง

“วราวุธ” ห่วงภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง กังวลกระทบสังคมไทย-กลุ่มเปราะบาง – Top News รายงาน

 

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ “สภาวะความเปราะบางของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมในงาน และมี Mr. Fabrizio Zarcone ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานวิจัย และทีมนักวิจัยธนาคารโลก (World Bank) นำเสนอผลงานวิจัย

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “สภาวะความเปราะบางของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นับว่าเป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน เพื่อการกระตุ้นให้มีความตระหนักถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งทีมวิจัยธนาคารโลกได้นำเสนอผลการวิจัย เพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประเมินความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกลุ่มเปราะบาง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2564 ประเทศไทยได้ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับ 9 ของโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเป็นที่น่ากังวลว่า กลุ่มเปราะบางคือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่ออาชีพและรายได้ การทำเกษตร ที่อยู่อาศัย และการใช้ชีวิตจากการถูกกัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วมซ้ำซาก

นายวราวุธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวง พม. ซึ่งมีภารกิจหลักในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ทุกคนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน มีความมั่นคงในชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานบนสิทธิพลเมืองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยบทบาทของกระทรวง พม. คือ การดูแลคนทุกช่วงวัยโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง อาทิ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธ์ และกลุ่มคนไร้บ้าน และปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก คุณภาพเด็กที่มีอยู่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและยกระดับ ดังนั้นเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสามารถปรับตัว และอยู่รอดปลอดภัยได้ โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำอย่างไรที่จะทำให้ยังคงเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศท่ามกลางวิกฤต และความท้าทายต่างๆ ได้

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับผลงานวิจัยที่นำเสนอในวันนี้ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทางธนาคารโลกได้ทำการศึกษาและจัดทำ Country Climate and Development Report หรือ CCDR สำหรับประเทศไทย โดยได้มีการจัดทำรายงานมิติทางสังคมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Social Dimensions of Climate Change (SDCC) ที่ได้มีการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ที่กระทรวง พม. ดูแลรับผิดชอบอยู่ ทำให้สะท้อนภาพที่ชัดเจนถึงความจำเป็นในการพัฒนายุทธศาสตร์การปรับตัว และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในมิติทางสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงตามมาตรฐานของ Intergovernmental of Climate Change หรือ IPCC เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนการดำเนินงาน การจัดสรรงบประมาณ และการบริหารบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานแบบพุ่งเป้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับแผนที่ความเสี่ยงที่นำมาทับซ้อนกับข้อมูลกลุ่มเปราะบาง และการคาดประมาณประชากรนั้น นับเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่งต่อการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการที่กระทรวง พม. จำเป็นต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ยังจะเป็นส่วนสำคัญช่วยในการวางแผน การตัดสินใจ และการปฏิบัติการของผู้รับผิดชอบในพื้นที่ในการจัดการกับภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการป้องกัน การบริหารจัดการ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และการฟื้นฟูหลังจากเกิดภัยพิบัติได้อย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียและผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชากรกลุ่มเปราะบาง ครอบครัว และชุมชน ตลอดจนงบประมาณ และกำลังคนของภาครัฐ

 

นายวราวุธ กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดว่ากระทรวง พม. จำเป็นที่ต้องเร่งจัดการเชิงรุกกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประชากร โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ถือว่าเป็นความท้าทายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ แต่เราจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ เราควรจะต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1) ความสำคัญและความจำเป็นของการมีข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง และทันสมัย เพื่อใช้ในการวางแผนการจัดสรรทรัพยากรตามระดับความสำคัญของสถานการณ์และพื้นที่ ดังนั้น กระทรวง พม. จะพิจารณายกระดับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และมีรายละเอียดที่เพียงพอ และจะบูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานให้อยู่ในระบบ Big Data ของกระทรวง รวมทั้งเชื่อมประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอกกระทรวง พม. ต่อไป

2) การใช้เครื่องมือและนวัตกรรมที่มีมาตราฐานสากล โดยเฉพาะการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงตามมาตรฐาน IPCC ซึ่งกระทรวง พม. จะพิจารณาปรับใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง มาใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการชี้เป้ากลุ่มประชากรที่จะได้รับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การจัดสรรบุคลากร และงบประมาณ เป็นไปอย่างตรงเป้าหมาย

3) การเสริมสร้างความรู้ (Awareness raising and capacity building) ของบุคลากร พม. และภาคีเครือข่ายในเรื่องการดูแลประชาชนให้มีความตระหนัก และพร้อมที่จะรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่บุคลากร พม. จะต้องเข้าใจเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูล การทำแผน และการลงปฏิบัติงานในพื้นที่

4) การประสานการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นของกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่เสี่ยง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมการปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น

และ 5) การให้คนและชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงานเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้เริ่มการทำงานในลักษณะนี้กับนิคมสร้างตนเองในหลายพื้นที่ของกระทรวง พม. โดยจะดำเนินการศึกษาในรายละเอียดของผลการศึกษานี้ และจะได้ดำเนินการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารโลก ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเครื่องมือ นวัตกรรม การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และศักยภาพของบุคลากร พม. รวมถึงเครือข่ายที่ร่วมดำเนินงาน และที่สำคัญคือ การจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติทางสังคมต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ปปง." ยันเดินหน้าสอบเส้นทางเงิน "นอท" คดีฟอกเงินยังค้างในชั้นศาล
ตร.ตามรวบ "พ่อเลี้ยง" ขืนใจลูก วัย 13 ทั้งที่ขาติดกำไลอีเอม สุดสลดแม่แท้ๆนอนมอง
"NBM" แจงเหตุประตูรถไฟฟ้า สายสีชมพู เปิดขณะเคลื่อนออกสถานี ยันไม่ใช่ระบบขัดข้อง
"ศุภชัย" ยันภูมิใจไทย ไม่เปลี่ยนหนุนกัญชา ใช้ประโยชน์ปชช.พร้อมสู้ค้านกลับเป็นยาเสพติด
"ชนินทร" ยันมาตรการขยายโอกาสต่างชาติซื้อคอนโดฯ เช่าที่ดิน 99 ปี ยังอยู่แค่ขั้นตอนศึกษา
"EURO 2024" ตารางบอลยูโร 2024 โปรแกรมฟุตบอลยูโร 2024 ดูบอลสด
รวบขบวนการค้ายาเสพติด ข้ามชาติ ขนยาเคตามีน 100 กิโล เข้าประเทศไทย กกล.บูรพาร่วมกับศุลกากรตรวจเข้มรถสินค้าพบซุกยาเคตามีน 100 กก. จากเขมรเข้าไทย
"หาญส์-ปู มัณฑนา" เปิดใจ แจงยิบปมเงิน 2 ล้าน จ่อฟ้องกลับทำเสียชื่อ ลั่นเวรกรรมมีจริง
ชาวบ้าน จี้ บังคับคดี เร่งขนย้ายสารเคมีและวัสดุปนเปืัอนออกจากโรงงานนิรันดร์โดยเร็ว หลังถูกฝนตกลงมาหวั่นปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
ศาลให้ประกันตัว "บังเอิญ" มือพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น