พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “Top News” ถึงกรณีที่นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(7) ประกอบ 81 มาตรา 145 และมาตรา 148(2) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐสภาถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่พิจารณาผ่านความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ.… แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง แต่กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 86 ที่ไม่ได้เสนอขอแก้ไขไว้ว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายแพทย์วรงค์
ทั้งนี้ญัตติที่รัฐสภารับหลักการวาระหนึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์มีการแก้ไข 2 มาตรา คือมาตรา 83 และมาตรา 91 ต่อมาในชั้นวาระสองได้เพิ่มเติมมาตรา 86 ที่แก้ไขจำนวนส.ส.แบบเขตจาก 350 คน เป็น 400 คน ซึ่งก็ผ่านการลงมติเห็นชอบ จึงเกิดคำถามว่าเสนอญัตติแก้ไข 2 มาตรา แต่มาเพิ่มอีก 1 มาตราทำได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งการเพิ่มมาตราขึ้นมานี้อาจชอบด้วยเนื้อหา แต่ไม่ตรงหลักการ และไม่ชอบด้วยกระบวนการ แม้จะอ้างใช้ข้อบังคับรัฐสภานั้นสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริงหรือ เพราะเสนอขอบเขตแค่ 2 มาตรา แต่ไปพ่วงมาตราอื่น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (7) โยงมาตรา 148 หากมีส.ส. หรือส.ว. หรือส.ส.รวมกับส.ว. รวบรวมรายชื่อ 1 ใน 10 สามารถยื่นผ่านประธานรัฐสภาไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสามารถทำได้ และอีกกรณีคือเป็นอำนาจนายกฯเสนอโดยตรง ต้องดูว่าถ้าไม่มีส.ส. หรือส.ว.เสนอศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯไม่ควรนำกฎหมายที่มีปัญหาเรื่องการตีความขึ้นทูลเกล้าฯ ถือเป็นเรื่องที่มิบังควร และอาจทำให้ระคายเบื้องพระยุคลบาทได้หรือไม่ หากนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วตีความตกลงมาก็จะเกิดปัญหาและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อีก
“หากส.ส. และส.ว.ไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯต้องรับผิดชอบ เพราะนายกฯรับผิดชอบขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งผมเห็นสอดคล้องกับนายแพทย์วรงค์ว่านายกฯควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ และเกิดบรรทัดฐานต่อไป นายกฯต้องทำให้ถูกต้องครบถ้วนกระบวนการ เพราะได้ชื่อว่ามีความจงรักภักดีอย่างสูงใต้เบื้องพระยุคลบาท นายกฯควรคิดให้รอบคอบว่าควรทำอย่างไร โดยไม่ควรนำสิ่งที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว