นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย มีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวงเทพยดา เนื่องในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.19 น. ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ และพิธีเปิดงานวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.30 น. ณ ท้องสนามหลวง โดยกระทรวงวัฒนธรรมเชิญนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีและคณะรัฐมนตรี เข้าร่วม และก่อนพิธีเปิดเวลา 17.30-19.00 น. มีกิจกรรมการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย ริ้วขบวน 27 ขบวนที่มีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ ผู้แทนภาคเอกชนและประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน เส้นทางเดินริ้วขบวนเริ่มจากบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ไปยังท้องสนามหลวง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ภายในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทศมินทรราชา 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” และจัดแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติ “มหาทศมินทรราชา” การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ เช่น การแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ ชุด “รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร” การแสดง “มหาดุริยางค์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” การแสดง“โนราศิลปินแดนทักษิณเฉลิมพระเกียรติ” การแสดงโขน “สมเด็จพระรามาครองเมือง” การแสดงพื้นบ้าน “เรืองรองสุขเกษมทั่วถิ่นไทย” การแสดง”มหานาฏกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ” การแสดงดนตรี”มหาดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ” และการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา” เป็นต้น นอกจากนี้ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT)
ของดีสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร อาหารไทย อาหารถิ่นและผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวัฒนธรรมอื่นๆ การสาธิตอาหารในรูปแบบตลาดย้อนยุค เช่น อาหารไทยโบราณ อาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น และสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น นวดไทย ลงรักปิดทอง ทำว่าวไทย กรองดอกไม้ แกะสลักผักผลไม้ เป็นต้น