จอมพล แปลก พิบูลสงคราม หรือ ป. พิบูลสงคราม และ หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2481 ถึง 2487 และ 2491 ถึง 2500 รวมระยะเวลา 14 ปี 11 เดือน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกชั้นยศน้อย ที่สำคัญ เค้าเองยังเป็นหนึ่งในกลุ่มคณะราษฎร ร่วมปฏิวัติการปกครอง ในปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
และเมื่อย้อนกลับไปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 อย่างละเอียด ขณะนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี โดยสาเหตุการรัฐประหาร เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก ได้จำนวนผู้แทนทิ้งห่างคู่แข่งคือพรรคประชาธิปัตย์แทบไม่เห็นฝุ่น และได้ตั้งรัฐบาล ท่ามกลางการเดินประท้วงของประชาชนจำนวนมาก ที่เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
ขณะที่ การเลือกตั้ง ณ เวลานั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ประกาศจะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในโอกาสครบวาระกึ่งพุทธกาล แต่ประชาชนทั่วทุกหัวระแหง กลับพบว่า เกิดการทุจริตเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม กลโกงที่ปรากฏทุกรูปแบบ ก็นำสู่การเดินขบวน ต่อต้านครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชน ทั้งมีการลดธงชาติครึ่งเสาไว้อาลัยการเลือกตั้ง
13 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ และคณะทหาร ยื่นคำขาดต่อ จอมพล ป.ว่า ให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจาก จอมพล ป. ว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมจำนวนมากที่กำลังเดินประท้วงรัฐบาล ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”
15 กันยายน 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. จึงพากันไปบ้านจอมพลสฤษดิ์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. ก็กำลังเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ในข้อหากบฏ แต่ไม่ทัน
ค่ำคืนอันเงียบสงัดในวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ นำกำลังรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ส่วน จอมพล ป. ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ
หลังยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. แล้ว จอมพลสฤษดิ์ เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงมอบหมายให้พจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้ง หลังจากรัฐบาลพจน์ สารสิน จัดการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย พลเอก ถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ปี 2501