“สุริยะ” นำรฟม.เซ็นสัญญารถไฟฟ้าสีส้ม มั่นใจเปิดไม่เกินปี 71

กดติดตาม TOP NEWS

“สุริยะ” เร่งเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี” ต้นปี 2571 ยันเข้ารวมค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย คาดเปิดตลอดเส้นสาย ในปี 2573

“สุริยะ” นำรฟม.เซ็นสัญญารถไฟฟ้าสีส้ม มั่นใจเปิดไม่เกินปี 71  Top News รายงาน 

 

รถไฟฟ้าสีส้ม

18 ก.ค.2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)

 

 

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เมื่อ16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ เป็นประธานกรรมการบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ สำนักงาน รฟม. ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ

นายสุริยะ กล่าวว่า พิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันเดินหน้างานก่อสร้างโครงการฯ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินทั้งหมดและลอดผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง

 

โดยเน้นย้ำให้รฟม.ดำเนินการส่งมอบเข้าพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนงานและตามระเบียบกฎหมาย กำกับควบคุมงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นโบราณสถาน ชุมชน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

หลังจากการลงนามสัญญาแล้ว ได้ให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 และจะเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกภายในปี 2573

 

โดยในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ ฝั่งตะวันออก คาดว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และเมื่อเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางไปจนถึงฝั่งตะวันตก คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการรวมประมาณ 400,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน

ขณะที่ อัตราค่าโดยสารในระยะแรกจะอยู่ที่ 17-42 บาท จากเดิมที่ 20-65 บาท แต่จะดำเนินการให้รถไฟฟ้าสายสีส้ม เข้าร่วมมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย โดยส่วนต่างที่เกินมา รัฐบาลจะเข้าไปดูแล โดยใช้กลไกเงินกองทุน ตาม พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หรือ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่ง คาดว่า จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีไม่เกินเดือน ก.ค.นี้

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นอกจาก จะทำให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกัน ทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกขึ้น ยังเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่าแสนล้าน มีผลต่อ GDP ประเทศ ประมาณ 0.1% มีการจ้างงานกว่า 30,000 คน

ขณะเดียวกัน นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร BEM กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาขบวนรถว่า เบื้องต้นทางด้านธนาคารกรุงเทพจะมีการปล่อยกู้เงินเต็มจำนวนเพื่อมาจัดซื่อขบวนรถ โดยในภายช่วงปลายปีนี้ BEM จะสามารถสั่งซื้อรถไฟฟ้าได้ทั้งหมด ประมาณ 30 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้โดยสาร เพื่อนำมาให้บริการส่วนตะวันออกก่อน โดยใช้เวลาผลิตประมาณ 2 ปีและวิ่งทดสอบอีก 1 ปี ซึ่งจะทันเปิดให้บริการประชาชนในปี 2571 พอดี

 

ขณะที่งานก่อสร้างโยธาโครงการฝั่งตะวันตก ทางรฟม. ได้มีการเตรียมพื้นที่เอาไว้แล้ว คาดว่าภายใน 1-2 เดือน จะสามารถเข้าพื้นที่เพื่อรื้อย้ายแนวสาธารณูปโภคได้

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น