“ปานเทพ” ชี้ชัดกม.กัญชาใหม่ กีดกันแพทย์แผนไทย คาใจล็อกสเปกเอื้อรพ.เอกชนหรือไม่ Top News รายงาน
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับประชาชน ที่นายปานเทพและคณะยื่นไปนั้น ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
นายปานเทพ ตั้งข้อสังเกตว่า ทิศทางในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น กำลังจะนำไปสู่ทำให้เกิดการผูกขาดของกลุุ่มทุนใหญ่อย่างแน่นอนดังนี้
หลักฐานชิ้นที่ 1 ล็อกสเปกกีดกันแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้าน ผ่านประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 32
โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันในมาตรา 32 กลับไม่ระบุให้ชัดถึงวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านให้มีความชัดเจนดังที่เคยปรากฏตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แต่กลับเลี่ยงใช้คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น
เปิดช่องทำให้เกิดการตีความหรือรอกฎหมายลำดับรองว่าจะหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านหรือไม่ หรือให้มีเงื่อนไขต่างจากวิชาชีพอื่น อันเป็นช่องทางในการกีดกั้นวิชาชีพกลุ่มนี้หรือไม่ โดยบัญญัติเอาไว้ว่า
มาตรา 32 การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกำหนด“
สถานภาพของ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน จึงมีแต่ความคลุมเครือ ทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่มแพทย์ที่จ่ายน้ำมันกัญชา และผลิตภัณฑ์กัญชาให้กับผู้ป่วยและชาวบ้านมากกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน
หลักฐานชิ้นที่ 2 ล็อกสเปกผ่านประกาศกระทรวงสาธารณสุขดักหน้า ไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชาและกัญชงได้ ส่วนแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่กล่าวถึงในการสั่งจ่ายยาเสพติให้โทษประเภท 5 ได้
โดยราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. 2567 ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ลงนามโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 เมษายน 2567 กลับไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชา กัญชงได้
อีกทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านให้สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกด้วย
ย่อมทำให้แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถจ่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ชนิดใด ๆ ให้ผู้ป่วยได้อีกต่อไป
การที่แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ไม่สามารถสั่งจ่ายสารสกัดกัญชา และสารสกัดกัญชงได้ ส่วสนแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงให้จ่ายยาที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ด้วย ก็เพราะผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มแพทย์เหล่านี้จ่ายให้ผู้ป่วยนั้น ล้วนเป็นการผลิตภายในประเทศที่ราคาไม่แพง และไม่จำเป็นต้องผลิตโดยโรงงานผลิตยาขนาดใหญ่ใช่หรือไม่?
แต่อาจจะทำให้กลุ่มโรงงานผลิตภัณฑ์กัญชาเสียผลประโยชน์เพราะขายกัญชาแพง ๆ ไม่ได้ใช่หรือไม่?
อย่างไรก็ตามการกระทำข้างต้น อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 55 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
หลักฐานชิ้นที่ 3 ล็อกสเปกประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 40 และ 95 เพิ่มบทบาทเภสัชกรในการปลูกกัญชา เอื้อเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชน
โดยบทบาทเพิ่มขึ้นของเภสัชกรในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จนถึงขั้นอาจมีปัญหาที่ปฏิบัติไม่ได้จริง หรือหากปฏิบัติได้ก็จะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต่างจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่ได้ยกเลิกไป แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาในประเด็นดังกล่าวอันเนื่องด้วยกระท่อมและกัญชาได้ถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไปเสียก่อนที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว