เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำชุมชนนักอนุรักษ์หัวหอกจัดเทศกาล “ตกปลาทราย” ส่งเสริมวิถีประมงพื้นถิ่นและธุรกิจชุมชน

กดติดตาม TOP NEWS

เปิดวิสัยทัศน์ "ผู้ใหญ่หมอน" ผู้นำชุมชนนักอนุรักษ์หัวหอกจัดเทศกาล "ตกปลาทราย" งานขึ้นชื่อ "ทะเลขนอม" จัดมา 19 ปี ประสบความสำเร็จส่งเสริมวิถีประมงพื้นบ้านและธุรกิจชุมชน เผยปีหน้าผุดไอเดียแข่งเนรมิต "ปลาทราย" ผลักดันเป็นเมนูเด็ดขึ้นโต๊ะโรงแรม 5 ดาว โชว์ "กะปิขนอม" ของดีขึ้นชื่อ วอนท้องถิ่นเปิดจุดจอด "เรือประมงพื้นบ้าน" กว่า 300 ลำ บูมท่องเที่ยวชุมชน

TOP News นายอรุณ สุขหนู หรือ “ผู้ใหญ่หมอน” ผู้ใหญ่บ้านบ้านในเพลา หมู่ 8 ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้บุกเบิกเทศกาล “ตกปลาทราย” งานขึ้นชื่อของหาดทะเลขนอม จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2543 จนปัจจุบันจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 19 จุดเริ่มต้นจากความต้องการหารายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านในเพลาได้ลืมตาอ้าปากจากประมงพื้นถิ่นและธุรกิจท่องเที่ยวที่ในยุคนั้นถนนเลียบชายเขาพลายดำ-อ่าวท้องหยียังเป็นถนนลูกรังทางวิบากกันดาร จนมาวันนี้เป็นถนนลาดยางเดินทางสะดวก เส้นทางสวยงามและเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของการท่องเที่ยวขนอม โดยในช่วงปีแรกที่จัดงานเทศกาลตกปลาทรายช่วงนั้นธุรกิจท่องเที่ยวรีสอร์ทโรงแรมบังกะโลและร้านค้าเพิ่งก่อตัว แต่ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร ขณะที่คนในชุมชนก็ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก จนเกิดความคิดว่าจะหารายได้จากประมงพื้นถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างไร ชุมชนจึงคิดไอเดียตกปลาทรายที่เป็นปลาที่ชุกชุมมากในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคมของทุกปี

นอกจากนี้การท่องเที่ยวทะเลขนอม มีด้วยกัน 2 ช่วง คือ ช่วงไฮซีซั่นระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนสิงหาคม และช่วงโลซีซั่นช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนมีนาคม จึงเกิดความคิดว่าในช่วงพีคของการท่องเที่ยวทะเลขนอม จะหาอะไรมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้บ้าง เพราะช่วงเดือนกรกฏาคมเป็นช่วงปลาทรายชุกชุมตลอดหาดทะเลขนอม ทั้งริเริ่มการล่าปลาทรายเพื่อความสนุกในเกมกีฬาและสร้างชื่อเสียงเรื่องอาหารการกินให้สามารถส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้านและสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างถิ่น หรือต่างชาติเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ ย่อมสร้างรายได้เป็นลูกโซ่ให้กับชุมชน ไล่ตั้งแต่ร้านอาหาร รีสอร์ท โรงแรม และร้านค้าต่าง ๆ

“ผู้ใหญ่หมอน” กล่าวว่า ปีแรกที่จัดงาน กว่าจะตั้งไข่ได้ต้องใช้ความพยายามอุสาหะอย่างมาก เพราะชุมชนต้องทำกันเองโดยไม่ได้มีความช่วยเหลือจากภายนอก ในปีแรกที่ประเดิมจัดงาน มีคนมาร่วมกิจกรรมทั้งหมด 400 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน จากนั้นแต่ละปีเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปีล่าสุด ปี 2567 มีคนสนใจมาเที่ยวนับพันคน แต่กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างคนในชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนร่วมด้วย จนปีล่าสุดได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีสปอนเซอร์มาให้การสนับสนุนโดยเฉพาะ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนอม นครศรีธรรมราช , บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ในกลุ่มเอ็กโก และ ผู้ประกอบในพื้นที่ เพราะเห็นว่าเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนเข้มแข็ง

 

สำหรับครั้งที่ 19 ปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม มีนักล่าปลาทราย เข้าร่วมกิจกรรม 30 ทีม ๆ ละ 4 คน รวม 120 คน แต่ละทีมจะเรือประมงพื้นบ้านที่เช่าเหมาลำจากชาวบ้านเป็นพาหนะนำไปออกล่าปลาทราย ตั้งแต่ 08.00 น.ไปจนถึง 15.00 น.วัดดวงและวัดฝีมือกันว่าทีมไหนล่าปลาทรายได้มากกว่ากัน สถิติสูงสุดที่เคยทำไว้ ออกไล่ล่าด้วยคันเบ็ดได้มากถึง 11 กิโลกรัม ซึ่งยังไม่มีทีมใดทุบสถิตินี้ลงได้ รัศมีในการไล่ล่าปลาทรายขีดวงไว้ 3 กิโลเมตรตลอดชายฝั่งทะเลขนอม โดยมีสัญญาใจต่อกันด้วยน้ำใจนักกีฬาอย่าโกง ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นสีสันน่าสนใจ อาทิ แข่งปลอกมะพร้าว , ชกมวยทะเล , ชกมวยตับจาก หรือ ตกปลาชายฝั่ง เป็นต้น ตลอดงานอาหารเครื่องดื่มฟรีไม่มีค่าบัตรผ่านงาน

ผู้ใหญ่หมอน กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการจัดงาน คือ ต้องการให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลขนอมที่สามารถเป็นครัวของชุมชน ที่สามารถส่งอาหารไปยังครัวสถานประกอบการ โรงแรม ต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้กินอาหารสดใหม่และปลอดภัย ขณะเดวกันก็สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่จากอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยนำเรื่องฤดูปลาทรายเข้ามาเป็นตัวเชื่อมกิจกรรม นอกจากนี้อยากให้มีจุดจอดเรือที่ชัดเจน ปัจจุบันมีเรื่อประมงพื้นบ้านกว่า 300 ลำที่ยังไม่มีสถานที่ที่เป็นจุดจอดเรือ โดยมีอยู่จุดหนึ่งที่อาจทำเป็นจุดจอดเรือได้อยู่บริเวณ “คลองเพลา” พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ หากสามารถประกาศเป็นจุดจอดเรือได้จะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงที่ไม่มีที่จอดเรือ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้านได้ด้วย

“ของดีของทะเลขนอม อีกอย่างที่ตั้งใจจะส่งเสริมสนับสนุน นั้นคือ กะปิขนอม ของฝากที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติไม่แพ้กะปิของจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ กำลังคิดอยู่ในหัวว่าจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้อย่างไร ดังนั้นของดีทะเลขนอม หากได้รับการส่งเสริมต่อยอด อย่างเช่น โรงแรมระดับ 5 ดาวหากนำปลาทราย และ กะปิ ของทะเลขนอมไปเป็นวัตถุดิบย่อมจะสร้างชื่อเสียงทั้งด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจชุมชนอย่างมาก จึงวิงวอนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยหนุนเสริม” นายอรุณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น