วันที่ 4 สิงหาคม 2567 นายนคร ประยงค์ขำ หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (ปราจีนบุรี) ได้รับการร้องเรียนจาก ชาวบ้านใน พื้นที่อ่างเก็บน้ำพระปรง ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ว่ามีชาวบ้าน ลักลอบ วางอวน และ ตาข่ายดักปลา ในช่วงฤดูต้องห้ามจับ สัตว์น้ำ ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูที่ปลาจะวางไข่ หลังจากได้รับแจ้ง จึงประสานกับนายอุดม คูณ ดอน หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง จ.สระแก้ว พร้อม เจ้าหน้าที่ ได้ออกปฏิบัติงานเพื่อควบคุมการทำการประมงในช่วงระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ฯ ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำพระปรง ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ตรวจพบมีการลักลอบใช้ข่ายลอยทำการประมงในอ่างเก็บน้ำพระปรง ตรวจสอบไม่พบผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าของ จึงร่วมกันตรวจยึดข่ายลอย จำนวน 15 ผืน หลังจากนั้นจึงได้ นำของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.หนองหมาฝ้าย เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ”
กรมประมงมีการประกาศใช้มาตรการ บริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำจืดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2507 และปรับปรุง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดในช่วงมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนหรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “ฤดูน้ำแดง” เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่น้ำฝนมีปริมาณมากส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีแดงจากการล้างหน้าดินพัดพาตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำซึ่งเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้สัตว์น้ำจืดมีการผสมพันธุ์และวางไข่ กรมประมงจึงกำหนดพื้นที่และระยะเวลาในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมงและเงื่อนไขในการทำการประมงให้สอดคล้องกับข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด
สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมากรมประมงได้มีการออกประกาศฉบับใหม่โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด สามารถออกประกาศกำหนดเครื่องมือวิธีการทำการประมงและเงื่อนไขการทำการประมงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีผลบังคับใช้ 2 ปี 2566-2567 ภาพรวมของประเทศ ปลาส่วนใหญ่จะวางไข่ ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคมโดยกลุ่มปลาตะเพียนจะมีฤดูวางไข่ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนตุลาคม ส่วนกลุ่มปลาหนังส่วนใหญ่มีช่วงฤดูวางไข่ในเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติและใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกตินั่นหมายถึงว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง ดังนั้นกรมประมงจึงยังคงกำหนดพื้นที่และระยะเวลารวมถึงเครื่องมือที่ใช้เป็นไปตามมาตรการเดิมซึ่งแบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะตามความเหมาะสมของระบบนิเวศแต่ละพื้นที่ โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน และลำน้ำทุกสาขา รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่ถูกน้ำท่วมตามธรรมชาติเชื่อมต่อบริเวณดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นสาธารณ สมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน ในช่วงฤดูสัตว์มีไข่ตามห้วงเวลาและพื้นที่ โดยจังหวัดสระแก้ว และ ปราจีนบุรี ได้อยู่ในระยะที่ 2 คือ 1 มิถุนายน- 31 สิงหาคม 2567
ในส่วนของเครื่องมือวิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ดังนี้ 1.เบ็ดทุกชนิดยกเว้นเบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชากหรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน 2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาเดินเรียงหน้าพร้อมๆกัน ตั้งแต่ 3 เครื่องมือ ขึ้นไป 3. สุ่ม ฉมวก ส้อม ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)
หาผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 ” และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่า ของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง
นายยุทธนา พึ่งน้อย ผู้สื่อข่าวจังหวัดสระแก้ว