วันนี้ (14 สิงหาคม 2567) ที่ห้องลำตะคอง โรงแรมแคนทารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยในส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 2567 โดยมี นายนายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายนันทชัย ปัญญา สุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมให้การต้อนรับ โดยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์พิจารณากิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign 2024) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 40 รางวัล พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการความปลอดภัยที่ต้องเพิ่มขึ้นในการก่อสร้าง ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของ จ.นครราชสีมาในปัจจุบัน
ข่าวที่น่าสนใจ
นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เดินทางมาเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ภาคอิสาน คือ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น กำลังมีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับผ่านเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ดังนั้นการจัดงานสัมมนางานสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยในส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา สสปท.จึงมุ่งเน้นหัวข้อสัมมนาใน ด้านความปลอดภัยจากการก่อสร้าง รวมถึงแนวทางปฏิบัติว่าด้วยเรื่องสิทธิของคนทำงานทุกคน ที่จะทำให้ทุกคนมีความปลอดภัย 24 ชั่วโมง เพราะความปลอดภัยไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในโรงงาน แต่ต้องเกิดขึ้นในทุกที่ด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่ สสปท. และกระทรวงแรงงาน ต้องการเน้นย้ำไปยังสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ คือ การลดอุบัติเหตุจาการทำงานให้เป็นศูนย์ ในโครงการ Zero Accident Campaign ซึ่งมีเป้าหมายให้ทุกสถานประกอบกิจการ จัดทำแผน และกิจกรรมรณรงค์ลด อุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ โดยตั้งเป้าหมายให้สถานประกอบกิจการทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มขึ้น 20 % ทุกปี โครงการ Zero Accident Campaign เป็นโครงการที่ สสปท.ดำเนินการต่อมาจากกระทรวงแรงงาน และมุ่งหวังให้ทุกสถานประกอบกิจการจัดทำแผนและกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ และ แผนนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในโรงงาน ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึง แม่บ้าน รปภ. เพื่อให้ทุกคนในโรงงานได้ตระหนักถึงความปลอดภัย และร่วมมือกันเพื่อลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น และ ผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำ และความรู้เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เพราะหากคนทำงานปลอดภัย ทั้งชีวิต และจิตใจ ผลผลิตที่ดีจะเกิดขึ้น ต้นทุนของผู้ประกอบการจะต่ำลง กำไรเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเติบโตขึ้น และผลประโยชน์โดยรวมจะตกอยู่กับประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง