ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ตลอดช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีผลผลิตกุ้งลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งทะเลอันดับ 1 ของโลก มีผลผลิตสูงสุดถึง 6.4 แสนตัน เมื่อปี 2553 แต่ด้วยผลกระทบจากการระบาดของโรคสำคัญ ทั้งโรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคตายด่วน (EMS) โรคขี้ขาวอีเอชพี (EHP) และโรคแคระแกร็น (IHHNV) โดยเฉพาะโรค EMS ทำให้ตั้งแต่ปี 2555 ผลผลิตกุ้งของไทยมีปริมาณลดลงมาอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปีนี้ อุตสาหกรรมกุ้งไทยจะมีผลผลิตประมาณ 3 แสนตัน
แม้ปกติสถานการณ์กุ้งตกต่ำจะเกิดขึ้นทุกปี จากการที่ผลผลิตกุ้งออกมาพร้อมกันทั้งประเทศ แต่เกษตรกรก็ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนแก้ปัญหาจนสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคากุ้งตกต่ำทั่วโลก ตั้งแต่พิษเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีคำสั่งซื้อลดลง จากผลพวงของภาวะสงคราม ค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นเกิน 100% กำลังซื้อจึงลดลง ขณะเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ลูกค้าสำคัญ กุ้งทั่วโลกจึงมิใคร่ได้ราคานัก นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่กระทบอย่างรุนแรงต่อกุ้งไทยและกุ้งโลก และคาดว่าจะกระทบไปอีกค่อนข้างยาวนาน
นายกสมาคมกุ้งไทย เอกพจน์ ยอดพินิจ ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคากุ้งไทยตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เกิดจาก เอกวาดอร์เกิดโอเวอร์ซับพลาย มีผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดโลกมากถึง 1.2 – 1.5 ล้านตัน ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งค่อนข้างมาก จึงสามารถปล่อยเลี้ยงกุ้งไม่หนาแน่นได้ ทำให้ไม่ค่อยเกิดปัญหาเรื่องโรค ในขณะที่ประชากรในประเทศกว่า 10 ล้านคน ไม่นิยมบริโภคกุ้งมากนัก เรื่องนี้ไม่อาจคาดการณ์ได้เลยว่า สถานการณ์กุ้งไทยจะดีขึ้นเมื่อไร อาจต้องรอให้ผลผลิตเอกวาดอร์ลดลง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ ภาครัฐก็คงทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเป็นสถานการณ์โอเวอร์ซับพลายของต่างประเทศ