การเดินทางเยือนมองโกเลียวันที่ 3 กันยายนนี้ จะเป็นการเยือนประเทศสมาชิก ICC เป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีปูติน นับตั้งแต่ถูกออกหมายจับในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ฐานต้องสงสัยก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน โดยตามธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ประเทศสมาชิกมีพันธะผูกพันที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่ ICC ออกหมายจับ หากบุคคลนั้นอยู่ในเขตอำนาจ กระนั้น ICC ไม่มีกลไกบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม ดังเคยมีกรณีโด่งดังในปี 2558 โอมาร์ อัล บาเชียร์ ประธานาธิบดีซูดานเวลานั้น ไปเยือนแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสมาชิก ICC แต่ก็ไม่ได้ถูกจับกุม จุดกระแสประณามจากบรรดานักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน และพรรคฝ่ายค้าน
แถลงการณ์ทำเนียบเครมลิน ระบุว่า ประธานาธิบดีปูตินจะไปเยือนตามคำเชิญของ ประธานาธิบดีอุค–นา–กีง คือ–เรล–ซึค แห่งมองโกเลีย เพื่อเข้าร่วมพิธีครบรอบ 85 ปีที่กองทัพสหภาพโซเวียตและมองโกเลีย มีชัยเหนือกองทัพญี่ปุ่นในยุทธการแม่น้ำฮาลฮิน กอล และร่วมเจรจาหารือกับเจ้าหน้าที่มองโกเลียด้วย
ไอซีซี กล่าวหาปูติน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง กับการเคลื่อนย้ายเด็กจากดินแดนยึดครองในยูเครนไปรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย นับเป็นครั้งแรกที่ศาลระดับโลกออกหมายจับผู้นำที่เป็น 1 ใน 5 สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
รัสเซียเมินหมายจับว่า ไม่มีความหมายใดๆ แต่นับจากนั้นมา ปูตินก็ไม่เคยเดินทางไปเยือนประเทศสมาชิก ICC อีกเลย และเคยยกเลิกการไปแอฟริกาใต้ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ บริกส์ เมื่อปีที่แล้วอีกด้วย โดยมีรายงานว่า แอฟริกาใต้ลอบบี้รัสเซียหลายเดือนก่อนหน้า เพื่อขอให้ปูตินงดไปร่วมประชุม เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางการทูต เนื่องจากแอฟริกาใต้เป็นสมาชิก ICC ซึ่งในที่สุด ปูตินตัดสินใจร่วมประชุมผ่านวิดีโอลิงค์แทน
ด้าน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า ไม่มีอะไรต้องกังวล ทั้งสองประเทศได้พูดคุยและเตรียมจัดการเยือนอย่างรอบคอบในทุก ๆ ด้าน