นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทานเปิดบานระบายของเขื่อนเจ้าพระยาทุกช่องเพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ด้านท้ายของอาคารเขื่อนเจ้าพระยา แต่ควบคุมปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่พื้นที่ด้านล่างอยู่ในเกณฑ์ 1,524 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น ซึ่งไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรีดังที่มีการแชร์กันในสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้พื้นที่จังหวัดนนทบุรีจะเริ่มได้รับผลกระทบเมื่อมีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านสถานีวัดน้ำที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอุยธยาในอัตราเกินกว่า 2,500 ลบ.ม./วินาที ส่วนกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบเมื่อปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำที่อำเภอบางไทร ในอัตรา 3,500 ลบ.ม./วินาทีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน (21 ก.ย. ) สถานีบางไทรมีน้ำไหลผ่านเพียง 1,547 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น
สำหรับการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยายังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณอำเภอเสนา บางบาล ผักไห่ และบางไทรซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตลิ่งต่ำและอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และคาดว่า วันพรุ่งนี้ (22 ก.ย.) เวลาประมาณ 06.00 น. ระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก 25 เซนติเมตรจากระดับน้ำปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณน้ำทางตอนบนบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งวันนี้มีน้ำไหลผ่าน 1,956 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายธีระพลกล่าวต่อว่า การเพิ่มปริมาณระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาทุกครั้ง จะมีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าตามนโยบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด