Top news รายงาน วันที่ 12 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มี ครม. ส.ส. และ ส.ว. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า คณะรัฐมนตรีขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดข้ึนในสังคมไทย และจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยทุกคน
โดยในประเด็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญว่า ประเทศไทยเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่โตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหาที่รุมเร้าและนำพาให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
นายกรัฐมนตรี ได้ยกความท้าทาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่โตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ สังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้คือ “ความท้าทาย” ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายสำคัญเร่งด่วนเพื่อการเดินหน้าบริหารประเทศ 10 ข้อ ที่จะดําเนินการทันที ดังนี้
1) ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
2) ดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs
3) เร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค อัตราค่าโดยสารร่วมรองรับนโยบาย “ราคาเดียวตลอดสาย”
4) สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนําเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี และนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา อุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานของประชาชน ฯลฯ
5) เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้ความสําคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก ผลักดัน “ดิจิทัลวอลเล็ต” (Digital Wallet) ซึ่งเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ
6) ยกระดับการทําเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ภายใต้แนวคิด “ตลาดนํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ฟื้นนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก
7) ส่งเสริมการท่องเที่ยว สานต่อการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราท้ังหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า (วีซ่าฟรี) นำเทศกาลระดับโลกมาจัดในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระจายรายได้
8) แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
9) เร่งแก้ปัญหา อาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์
10) รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจให้แก่คนทุกกลุ่ม เป็นต้น