X

งานวิจัยชี้ กองทัพเยอรมนีล้าหลังรัสเซีย เป็น 10 ปี

งานวิจัยชี้ กองทัพเยอรมนีล้าหลังรัสเซียเป็น 10 ปี

สถาบันในเยอรมนีวิจัยพบ กองทัพชาติตัวเอง ล้าหลังรัสเซียอยู่เป็น 10 ปี และไม่น่าจะสู้รบใดๆกับรัสเซียได้ หากเกิดความขัดแย้งในเร็วๆนี้

สถาบันคีลเพื่อเศรษฐกิจโลก (หรือ IfW) ของเยอรมนี ได้เปิดเผยผลการวิจัยว่า เยอรมนีไม่น่าจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับรัสเซียได้ หากเกิดความขัดแย้งขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยขีดความสามารถของกองทัพเยอรมนีหรือกองทัพบุนเดสแวร์ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจากเมื่อสองทศวรรษก่อน เป็นอย่างมาก จำนวนเครื่องบินรบที่เยอรมนีมีใช้นั้น ลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง และจำนวนรถถังต่อสู้ก็ลดลงเช่นกัน จากเกือบ 2,400 คัน เหลือเพียง 339 คัน ส่วนระบบป้องกันภัยทางอากาศ ก็เหลือเพียง 12 ระบบเท่านั้น

IfW รายงานต่อว่า ระบบการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันประเทศของเยอรมนีนั้น เชื่องช้าและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เยอรมนีจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี จึงจะกลับมามีขีดความสามารถเท่ากับระดับในปี 2004 ได้ ในขณะนี้ เยอรมนีแทบจะจัดหาอาวุธมาทดแทนจากที่บริจาคให้ยูเครน ไม่ได้เลย สต็อกระบบป้องกันภัยทางอากาศ และปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์ของกองทัพบุนเดสแวร์ ยังลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องมาจากความช่วยเหลือทางทหารที่ให้แก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เยอรมนีประกาศไปเมื่อช่วงต้นปีว่า เยอรมนีจะลดความช่วยเหลือนี้ลงครึ่งหนึ่งแล้ว ในปี 2025 เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลาง

IfW ยังเตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เยอรมนีไม่สามารถเทียบได้กับรัสเซีย ในกรณีที่อาจเกิดความขัดแย้งขึ้น โดยตามการประมาณการของสถาบันวิจัยแห่งนี้ รัสเซียจะสามารถผลิตอาวุธได้เทียบเท่ากับคลังอาวุธทั้งหมดของกองทัพบุนเดสแวร์ ในเวลาเพียงครึ่งปี นอกจากนี้ กองกำลังรัสเซียยังสามารถใช้กระสุนปืนใหญ่และขีปนาวุธได้ประมาณ 1 หมื่นนัดต่อวัน โดยไม่ต้องกังวลว่ากระสุนจะหมดเลย แต่สำหรับเยอรมนี หากมีอัตราการยิงที่ใกล้เคียงกัน ก็จะใช้กระสุนที่ผลิตมาตลอดทั้งปี ได้เพียง 70 วันเท่านั้น

ย้อนกลับไปในปี 2022 นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ได้ประกาศเกี่ยวกับไซเทนเวนเดอ (Zeitenwende) หรือจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์สำหรับเยอรมนี โดยหมายถึงการยกเลิกกฎเกณฑ์เรื่องการส่งออกอาวุธ และการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมครั้งใหญ่ ที่จะมีการใช้เงินถึง 1 แสนล้านยูโร เพื่อปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย

อย่างไรก็ดี กองทุนพิเศษเพื่อปรับปรุงกองทัพนั้น น่าจะหมดลงภายในปี 2028 หากเยอรมนีปฏิบัติตามนาโต กับการใช้จ่าย 2 เปอร์เซ็นต์ของ GDP สำหรับการป้องกันประเทศ รวมถึงยังให้ความร่วมมือกับสหรัฐและชาติตะวันตกอื่นๆ ในการจัดหาความช่วยเหลือด้านการทหารให้กับยูเครนต่อไป

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บอริส พิสตอริอุส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนีก็ย้ำหลายครั้งว่า มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียและนาโต จะมีการปะทะกันแบบตรงๆ ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ว่าเยอรมนี ควรมีความพร้อมในการทำสงคราม โดยควรพร้อมให้ได้ภายในปี 2029

#บก.ข่าวทีวี

อัปเดตคลิปข่าว

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น