“ชูศักดิ์” ยอมถอย เลิกผลักดันแก้รธน.รายมาตรา ปมจริยธรรม ย้ำเพื่อไทยไม่ได้เป็นคนริเริ่ม

รายงานจากที่ประชุมสส.พรรคเพื่อไทย พบว่า “ชูศักดิ์” ยอมถอยแล้ว เลิกผลักดันแก้รธน.รายมาตราปม จริยธรรมนักการเมือง แบะท่า พท.ไม่ได้เป็นคนริเริ่ม อ้าง หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาล เสนอมา ทั้งที่ก่อนหน้า เป็นคนชงสภาเอง

“ชูศักดิ์” ยอมถอย เลิกผลักดันแก้รธน.รายมาตรา ปมจริยธรรม ย้ำเพื่อไทยไม่ได้เป็นคนริเริ่ม

 

ข่าวที่น่าสนใจ

 

24 ก.ย.67 ที่อาคารชินวัตร 3 มีการประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์ นำโดยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน ส.ส.พรรค ซึ่งมีรัฐมนตรี แกนนำพรรค และ ส.ส.ทยอยเดินทางมาร่วมประชุม อาทิ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เลขาฯพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และหัวหน้าพรรค ที่เดิมมีกำหนดการจะเข้าร่วมประชุม แต่ล่าสุดไม่ได้มาร่วมประชุมแล้ว เนื่องจากติดภารกิจต่อเนื่องที่ทำเนียบรัฐบาล และช่วงเย็นจะเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงรับรองในโอกาสวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำปี 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงเย็น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมสส.พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุม ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นจริยธรรมนักการเมืองโดยระบุว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดมาจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นผู้เสนอเข้ามา ทำให้ส.ส.ในพรรคเห็นตรงกันว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นทางพรรคเพื่อไทยก็จะไม่ผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อ เพราะถึงอย่างไรเรื่องนี้ก็ไม่ได้ริเริ่มมาจากพรรคเพื่อไทย

สำหรับร่างแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นจริยธรรมนักการเมือง ก่อนหน้านี้นายชูศักดิ์เป็นคนให้สัมภาษณ์สื่อเอง ว่ากำลังร่างกฎหมายเตรียมเสนอสภา โดยพรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ

 

 

โดยก่อนหน้านี้ การประชุมสส.พรรคเพื่อไทย เมื่อ 17 ก.ย. ได้พูดคุยกับสส.ถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา และได้เปิดให้สส.พรรคเพื่อไทย ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และให้เมื่อวันที่ 19 ก.ย.67 เวลาประมาณ 16.30 น.

โดยพรรคเพื่อไทย มอบหมายเจ้าหน้าที่ของพรรคยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรายมาตรา แก่เจ้าหน้าที่ส่วนงานสารบรรณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคประชาชน (ปชน.) ก็ได้มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วเช่นกัน

จากนั้นพรรคเพื่อไทย เผยแพร่รายละเอียดการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา 6 ประเด็น

“พรรคเพื่อไทยเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยครั้งนี้มีความตั้งใจที่จะแก้ไขเนื้อหารายมาตรา รวม 6 ประเด็น เน้นที่การตีความเรื่องจริยธรรม และคุณสมบัติของผู้สมัคร สส.และรัฐมนตรีให้ชัดเจน

เรื่องนี้หารือกันในที่ประชุม สส.เมื่อ 17 ก.ย.67 วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ได้เปิดให้ สส.ลงชื่อเพื่อยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา เสนอต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร สัปดาห์หน้า รายละเอียดที่แก้ไขมี 6 ประเด็น ได้แก่

1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

2. แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ

(4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูฉบับแก้ไขบังคับใช้

(5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา

(7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และ มาตรา246

4. แก้ไข มาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

5. แก้ไข 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ สส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

6. แก้ไข มาตรา 255 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้

และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไข ในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่วกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"พิชัย รมว.พาณิชย์" ยินดี 70 ปี เจโทร กรุงเทพฯ ชวนเพิ่มการค้า-ลงทุน อุตสาหกรรมใหม่ PCB ในไทย รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวก
ชาวบ้านเขัาไปหาปลา ผวาเจอศพคนแก่นอนตายข้างกองดิน
เวียงป่าเป้าอ่วม น้ำป่าหลาก ดินถล่มทับบ้าน ถนนถูกตัดขาด
"สามารถ" นำทัพคนรุ่นใหม่พลังประชารัฐ นำถุงยังชีพ มอบให้ชาวเชียงรายประสบอุทกภัย 800 ครอบครัว
สยอง "พิทบูล" ขย้ำป้า วัย 67 ปี เป็นแผลฉกรรจ์ก่อนดับสลด
โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม อีก 120 วันมีผลบังคับใช้
พ่อค้า-แม่ค้าตลาดนัด เฮ หลังรัฐบาลเดินหน้าแจกเงินสด 10,000 บาท หวังช่วยฟื้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อสินค้าไปบริโภค
“ชูศักดิ์” ยอมถอย เลิกผลักดันแก้รธน.รายมาตรา ปมจริยธรรม ย้ำเพื่อไทยไม่ได้เป็นคนริเริ่ม
กองทัพเรือ โดย สอ.รฝ.ส่งกำลังพลหน่วยเฉพาะกิจ รักษาความสงบพื้นที่ภาคใต้
"ศุภมาส" หนุน สกสว. ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรม งาน “TRIUP FAIR 2024” ดึงภาครัฐ-เอกชน ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น