คลิปวิดีโอที่เริ่มแชร์ในโลกโซเชียลมาตั้งแต่วันอังคาร (2 ตุลาคม) อ้างว่า กองทัพรัสเซียโจมตีเมือง วอฟชานสค์ แคว้นคาร์คิฟ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน ด้วยระเบิด ODAB-9000 ที่แหล่งข่าวโปรรัสเซียอ้างว่า เป็นหนึ่งในอาวุธตามแบบอานุภาพรุนแรงที่สุดในโลกที่ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์ เทียบเท่าระเบิด TNT 4 หมื่น 4 พันกิโล
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว อินไซเดอร์ยูเอ ในยูเครน โพสต์คลิปบนช่องเทเลแกรม อ้างอิงจาก “มิลบล็อคเกอร์” บล็อกเกอร์สายทหารชื่อดังในรัสเซีย ว่า ระเบิดที่เห็นในคลิป คือ ODAB-9000 ระเบิดสุญญากาศ ที่บางครั้ง เรียกกันว่า “พ่อแห่งระเบิดทั้งปวง” จากคลิปจะเห็น ระเบิดถูกหย่อนลงมาจากมุมบนขวาของหน้าจอ ก่อนระเบิดตูมใหญ่ในเมืองที่รกร้างอยู่แล้ว ก่อความเสียหายให้กับอาคารโดยรอบ
ระเบิดสุญญาศ หรือ ระเบิดเทอร์โมบาริก จะดึงออกซิเจนเพื่อสร้างการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงและรุนแรง ซึ่งตามรายงานในวารสารวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จัดทำโดยองค์กร “อินเตอร์เนชันแนล รีวิว ออฟ เดอะ เรด ครอสส์” ระบุว่า การใช้อาวุธเทอร์โมบาริกในพื้นที่พลเรือน อาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม
แต่บล็อกเกอร์รัสเซีย แชร์คลิปแถมย้ำว่า การตัดสินใจใช้ระเบิดสุญญากาศ ODAB-9000 ในวอฟชานสค์เป็นเรื่องดีงาม และเป็นการใช้ครั้งแรกในสงครามนี้ ซึ่งเขาสงสัยว่าจะมีใครรอดตายบ้างหรือไม่
หลังคลิปแพร่ออกไป พันเอก วิทาลี ซารานต์ซอฟ โฆษกหน่วยปฏิบัติการและยุทธวิธีคาร์คิฟ ออกมาปฏิเสธเรื่องการใช้ระเบิดยักษ์ ว่าไม่เป็นความจริง การใช้ ODAB-9000 นั้น จะต้องใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม อย่างเช่น Tu-160 ซึ่งกองทัพไม่พบการเคลื่อนไหวของเครื่องบินรบรุ่นนี้แต่อย่างใด สันนิษฐานว่า รัสเซียใช้ระเบิดขนาดเล็กกว่าและพลังทำลายน้อยกว่านั้น แต่นักโฆษณาชวนเชื่อ ฉวยโอกาสสร้างภาพการระเบิดให้น่าตื่นตาตื่นใจไปเอง รายงานลักษณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสงครามข่าวสาร มุ่งทำลายขวัญทหารยูเครน ข่มขวัญประชาชนในพื้นที่ และบ่อนทำลายสถานการณ์ในภูมิภาค ขอให้สื่อในประเทศและผู้ดูแลช่องเทเลแกรมทั้งหลาย ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล และงดเผยแพร่เฟคนิวส์จากพวกโฆษณาชวนเชื่อรัสเซีย ที่มีแต่จะเข้าทางศัตรู
เวบไซต์ ดีเฟนส์ เอ็กซเพรส์ รายงานเพิ่มเติมว่า ODAB-9000 ระเบิดพลังสูงของรัสเซีย ยังอยู่ในขั้นทดลองและทดลองครั้งเดียวในปี 2560 ไม่ทราบน้ำหนักแน่ชัด แม้ว่าตัวเลขหลังมักจะบ่งบอกน้ำหนักก็ตาม ออกแบบมาติดตั้งกับเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ Tu-160, Tu-95 และ Tu-22M3 ที่จะหย่อนระเบิดตรง ๆ ลงสู่เป้าหมาย แต่ด้วยเงื่อนไขการรบสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากระบบป้องกันขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ การใช้อาวุธขนาดนี้ไม่น่าเป็นไปได้