ยอร์เกน วัตเนอ ฟรายด์เนส ประธานคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ แถลงที่กรุงออสโล ว่า “นิฮง ฮิดังเคียว” ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย นับจากก่อตั้งในปี 2499 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงหายนะต่อมนุษยชาติจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ นำไปสู่การพัฒนาบรรทัดฐานระหว่างประเทศอย่างทรงพลัง ตีตราการใช้อาวุธนิวเคลียร์ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทางศีลธรรม บรรทัดฐานนี้ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ข้อห้ามทางนิวเคลียร์’ (nuclear taboo) โดยคำบอกเล่าของฮิบาคุชะ ผู้รอดชีวิตจากฮิโรชิมาและนางาซากิ มีส่วนอย่างมากในการสร้างหลักประกันว่า จะต้องไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกเลย
คณะกรรมการโนเบล ยังแสดงความวิตกกังวลว่า “ข้อห้ามทางนิวเคลียร์” ระหว่างประเทศ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาหลังการโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู ในเดือนสิงหาคม 2488 กำลัง “อยู่ภายใต้แรงกดดัน” รางวัลสันติภาพในปีนี้ คือรางวัลที่มุ่งย้ำความจำเป็นที่โลกจะต้องยึดข้อห้ามนิวเคลียร์เหล่านี้ไว้ และพวกเราทุกคนมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะมหาอำนาจนิวเคลียร์
นิฮง ฮิดังเคียว ก่อตั้งขึ้นราว 10 ปี หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 แสน 4 หมื่นคน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 จากนั้น 3 วัน ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 ถูกหย่อนลงไปที่เมืองนางาซากิ ตามด้วยการประกาศยอมแพ้ของญี่ปุ่นในสองสัปดาห์ต่อมา ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง
ณ เวลาที่ประกาศรางวัล ประธานคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ บอกว่ายังไม่สามารถติดต่อเจ้าของรางวัลได้ แต่คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นสาขาเดียวที่ประกาศในกรุงออสโล ของนอร์เวย์ ส่วนรางวัลในสาขาอื่น ๆ ประกาศในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน สำหรับในปีนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 286 ราย เป็นบุคคล 197 คน และองค์กร 89 แห่ง ผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับเงิน 1 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 35 ล้านบาท โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 10 ธันวาคมที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบล นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ ตามพินัยกรรมของเขาในปี 2438