เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้าร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในช่วงวันที่ 23 – 28 ก.ย. 64 นั้น
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในฐานะที่ได้กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขณะนี้ได้สั่งการไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ให้ติดตามสถานการณ์พายุดีเปรสชั่นที่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้และกำลังทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศฝนฟ้าคะนองในทุกพื้นที่ โดยให้วางแผนบริหารจัดการสถานการณ์ตามแผนเผชิญเหตุและแผนอพยพ ในการแบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เตรียมพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้มีความพร้อมเผชิญเหตุในการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ หน่วยงานภาคีต่างๆ เพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ ลดความสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนประชาชนขอให้ติดตามข่าวสารสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่ปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ราบเชิงเขา อาจได้รับผลกระทบจากสภาวะดินสไลด์ กระแสน้ำป่าไหลหลากที่รุนแรง หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้อพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัคร เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด”
“ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูมรสุมของประเทศไทย ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี โดยครอบคลุมตั้งแต่ภาคเหนือลงไปจนถึงภาคใต้ ทำให้เกิดฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากต่อเนื่องอาจเอ่อล้นในพื้นที่ลุ่มต่ำส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน ทั้งท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ถนนสัญจร เป็นต้นทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งจุดนี้ได้กำชับให้หน่วยงานรับผิดชอบได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และรายงานเหตุความรุนแรงต่อเนื่องเพื่อการสนับสนุนการช่วยเหลือดูแลประชาชน ขณะเดียวกันในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำตามหลักคิดที่ให้ไว้คือ”สร้างที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล”นั้น โดยกรมปภ.และผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ให้ประสานหน่วยงานทั้ง กรมชลประทาน องค์กรปกครองท้องถิ่นไปดำเนินการเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำประโยชน์การเกษตร ผลิตน้ำประปา ฯลฯเพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งในปีหน้า