ซีพีเอฟหนุนประมงเพชรบุรีปราบปลาหมอคางดำต่อเนื่อง พบใน 18 คลองปริมาณปลาหมอคางดำลดลง

กดติดตาม TOP NEWS

สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี สำรวจพบปริมาณปลาหมอคางดำลดลงใน 18 สายคลอง ผนึกพลังร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ส่วนราชการในพื้นที่ องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ชาวประมง และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ จัด “ลงแขกลงคลอง” อย่างต่อเนื่อง ปล่อยปลาผู้ล่าลงในลำคลอง ควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน “เจอจับทันที ไม่ต้องรอ” จับมือกับปราชญ์ชาวบ้านแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นผลิตภัณฑ์น้ำปลา และเมนูอาหารอร่อยเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริโภคอย่างกว้างขวางขึ้น

นายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ประมงเพชรบุรีได้มีการสำรวจปริมาณปลาหมอคางดำพบมีอยู่ไม่ถึง 40 ตัวต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร (ตรม.) จากเดิมที่เคยพบ 80 ตัวต่อ 100 ตรม. เป็นผลจากจังหวัดบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ ชุมชน ชาวประมง และภาคเอกชนดำเนินมาตรการปราบปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาประมงเพชรบุรีได้จัด “ลงแขกลงคลอง” ในแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว 27 ครั้งจับปลาหมอคางดำออกจาก 18 สายคลอง รับซื้อเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางของการยางแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาที่ดินรับซื้อผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกร และรณรงค์เกษตรกรจับปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อจับส่งโรงงานปลาป่น จนถึงวันนี้ สามารถกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพชรบุรีได้รวม 153,249 กิโลกรัม และหลังจากนี้ ประมงเพชรบุรีตั้งเป้าลดประชากรปลาหมอคางดำให้เหลือน้อยกว่า 30 ตัวต่อ 100 ตรม. เน้นบูรณาการมาตรการที่หลากหลาย ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงสิ้นปี 2567 ประมงเพชรบุรี มีแผนจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” อีก 15 ครั้ง การปล่อยปลาผู้ล่าเพิ่มในจุดที่ปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ลดลง การใช้ประโยชน์รวมถึงส่งเสริมการบริโภค เพื่อให้จำนวนปลาหมอคางดำลดลง ช่วยเพิ่มความสมดุลของระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ประมงจังหวัดบูรณาการกับเรือนจำกลางเพชรบุรี ประมงอำเภอบ้านแหลม องค์กรในพื้นที่ ชุมชน กลุ่มประมงเรือเล็ก กลุ่มธนาคารปูหาดเจ้าสำราญ และซีพีเอฟ จัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ครั้งที่ 28 ช่วยจับปลาหมอคางดำที่คลองอีแอด ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม พร้อมกับมีการปล่อยปลากะพงขาวในลำคลอง 2 จุดในอำเภอท่ายาง และอำเภอเขาย้อย รวม 2,000 ตัว

“แนวทางการปล่อยปลาผู้ล่าของประมงเพชรบุรีจะดำเนินการในลำคลองที่มีการจับปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง และมีการฝึกปลากะพงเป็นผู้ล่าก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าปลากะพงช่วยจับปลาหมอคางดำขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายประจวบกล่าว

นอกจากมาตรการจับปลาออกจากแหล่งน้ำและการปล่อยปลาผู้ล่า ประมงเพชรบุรี ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนร่วมแรงร่วมใจ “เจอที่ไหนให้จับทันที ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ภาครัฐ” พร้อมสร้างความมั่นใจปลาหมอคางดำมีประโยชน์บริโภคได้ บูรณาการกับภาคีเครือข่ายนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการบริโภคและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ที่ผ่านมา ร่วมกับซีพีเอฟ พัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ เช่น ทำปลาซาเตี๊ยะ ปลาแดดเดียว หรือสินค้าประจำจังหวัด โดยร่วมมือกับเกษตรกรตัวอย่างในอำเภอหนองหญ้าปล้องผลิตเป็นน้ำปลาจากปลาหมอคางดำตรา “ชาววัง” พร้อมขยายผลร่วมมือกับเรือนจำเพชรบุรี นำปลาหมอคางดำที่จับได้ไปประกอบเป็นอาหารเลี้ยงผู้ต้องขัง เตรียมต่อยอดสอนผู้ต้องขังทำ “น้ำปลา” ฝึกเป็นทักษะอาชีพต่อไป

การสนับสนุนจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” การจับปลาหมอคางดำ และปล่อยปลาผู้ล่า เป็นมาตรการที่ซีพีเอฟร่วมสนับสนุนกรมประมงในการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างบูรณาการ ควบคู่บูรณาการกับหลายหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ช่วยกันสร้างสรรค์การใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากปลาหมอคางดำเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ฟื้นฟูความหลากหลายของระบบนิเวศในแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น