สพฐ. ร่วมร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ สร้างโอกาสความเท่าเทียมการศึกษา เดินหน้าเด็กไทยมีความสุข

กดติดตาม TOP NEWS

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการร้อยพลังการศึกษา ระหว่างมูลนิธิยุวพัฒน์และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครั้งที่ 1/2567 ผ่านระบบ Zoom meeting โดยมีผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ นายนพพร สุวรรณรุจิ นายพะโยม ชิณวงศ์ และคณะทำงานมูลนิธิยุวพัฒน์ พร้อมทั้งผู้บริหาร คณะกรรมการและผู้รับผิดชอบงาน สพฐ. จากสำนักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สวก., สศศ., สอ., สนผ., สนก., สกว., ศบศ., สบว., สทศ., สตผ. รวม 44 คน
การประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากที่ได้มีการลงนาม MOU โครงการร้อยพลังการศึกษา ระหว่างมูลนิธิยุวพัฒน์และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการร่วมกันดำเนินการในกิจกรรมสำคัญต่างๆ อาทิ 1) การประชุมผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมการณ์ในการทำงานร่วมกันใน 9 โครงการสำคัญ ภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษา 2) การแต่งตั้งคณะทำงานโครงการ ร้อยพลังการศึกษา 3) การเชื่อมโยงการทำงานแนะแนว การค้นหาความถนัดของนักเรียน ผ่านกิจกรรมการเปิดบูธ ซึ่งมีผู้ปกครอง นักเรียน คุณครู และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก 4) การพัฒนาครูแนะแนวเพื่อการให้การปรึกษาและดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม โดยมีครูแนะแนวในสถานศึกษาต้นแบบกิจกรรมนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (YC : Youth Counselor) เข้าร่วม 84 แห่ง และ 5) โครงการพัฒนาครูในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยบูรณาการจิตวิทยาสังคมเชิงบวก พัฒนาครูการศึกษาพิเศษ 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย โรงเรียนที่จัดการศึกษาสงเคราะห์ทั่วประเทศ ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 52 โรงเรียน รวมถึงครูและบุคลากร จำนวน 416 คน

สำหรับการประชุมในวันนี้ มูลนิธิยุวพัฒน์ และ สพฐ. ได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินงานโครงการร้อยพลังการศึกษา ในปีงบประมาณ 2568 ผ่านกลุ่มเป้าหมายโรงเรียน 500 แห่ง ร่วมขับเคลื่อน 9 โครงการ ประกอบด้วย โครงการทุนการศึกษาและการประคับประคอง มูลนิธิยุวพัฒน์ โครงการโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ โครงการ FOOD FOR GOOD โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย (ICAP) โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง โครงการสื่อดิจิทัลวิชาคณิตและวิทยาศาสตร์ โครงการสื่อดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ โครงการแนะแนวรุ่นใหม่ และโครงการดูแลนักเรียนผ่านการบูรณาการด้านจิตวิทยาสังคม

โดยได้ร่วมกันกำหนดการเชื่อมโยงการทำงานใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1) การเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย ในการดำเนินการโครงการที่จะนำไปสู่การพัฒนาทั้งในมิติคุณภาพและคุณธรรมในโรงเรียน
2) การพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับความก้าวหน้าด้านวิชาชีพและการประเมินวิทยฐานะ
3) การร่วมกันสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนโครงการร้อยพลังการศึกษา ไปยังเขตพื้นที่ โรงเรียน และสังคม
4) การเชื่อมโยงทรัพยากรร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากร ในการสนับสนุน ส่งเสริม กำกับ นิเทศและติดตาม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้งนี้ ได้มีการปรับ Timeline การทำงานในบางกิจกรรมเพื่อให้มีความสอดคล้องกับบริบทและสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา สิ่งที่คณะกรรมการได้ให้ความตระหนักและความสำคัญในการดำเนินการร่วมกัน คือ การไม่เพิ่มภาระให้กับ โรงเรียน คุณครู และผู้ปฏิบัติ เน้นย้ำคุณภาพเกิดขึ้นกับผู้เรียน เกิดประโยชน์กับครู ผู้บริหาร ชุมชน รวมทั้งมุ่งเน้นให้เกิดการทำงานร่วมกันตลอดแนว ให้ตอบโจทย์เป้าหมายการทำงานและตัวชี้วัดของ สพฐ. ศธ. ซึ่งตลอดการทำงานที่ผ่านมาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีพัฒนาการในทิศทางเดียวกัน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน รวมถึงส่งเสริมคุณธรรมที่เป็นลักษณะสำคัญของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ส่งผลให้นักเรียน “เรียนดีและมีความสุข” ตรงตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ที่ได้ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจนเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น