“สพฐ. ปลื้มผลความร่วมมือพัฒนาครู นักเรียนกับญี่ปุ่นอย่างยั่งยืน สู่โปรแกรมเมอร์ ศึก Hackathon ชิงแชมป์ประเทศ”

กดติดตาม TOP NEWS

วันที่ 21 ตุลาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการแข่งขัน Thailand-Japan Game Programming Hackathon 2024 (TJ-GPH2024) รอบคัดเลือกประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง โดยมีผู้เข้าแข่งขันจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 18 แห่งทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือก 3 ทีมตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนธันวาคม 2567 นี้
สำหรับการแข่งขัน Thailand-Japan Game Programming Hackathon ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยรูปแบบการแข่งขันจะเป็นการรวมทีมกันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 4 คน ในการออกแบบและพัฒนาเกมตามโจทย์ปัญหาที่ได้รับ โดยมีเวลาในการพัฒนาเกมเป็นเวลา 4 วัน รวม 25 ชั่วโมง และต้องนำเสนอแนวคิดการออกแบบและสาธิตการเล่นเกมในวันสุดท้าย เพื่อคัดเลือก 3 ทีมจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 19-23 ธันวาคม 2567 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล ร่วมกับงาน Thailand-Japan Student ICT Fair 2024

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การแข่งขันนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและการออกแบบเกม โดยความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ที่ได้จัดส่งอาสาสมัคร JOCV ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาช่วยสอนในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นเวลา 2 ปี จากความร่วมมือดังกล่าว นำไปสู่การจัดกิจกรรมแข่งขันออกแบบเกมด้วยโปรแกรม Unity ระหว่างนักเรียนไทยของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยและนักศึกษาจากสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่พัฒนาศักยภาพของนักเรียน แต่ยังส่งเสริมให้ผู้บริหารและครูโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงเรียนชั้นนำระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนไทยแสดงศักยภาพในการออกแบบเกมร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของญี่ปุ่น
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ขอชื่นชมนักเรียนทุกคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดจากการเรียนรู้ตามแนวทาง Active learning ในห้องเรียน นักเรียนได้คิดนำไปสู่การสร้างสรรค์ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จนเข้าใจ และสามารถยกสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นทีม จับประเด็นได้ ถ่ายทอดความรู้ได้อย่างรู้เรื่อง ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็น Hackathon ซึ่งหมายถึงการหยิบสิ่งที่สำคัญเป็นแก่นแท้ นำมาถ่ายทอดสื่อสารออกไปและนำไปสู่การคัดเลือกสุดยอดทีมในที่สุด รวมถึงชื่นชมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย สำหรับการจัดการแข่งขันดังกล่าว และขอบคุณคณะครูที่ร่วมกันสร้างสถานการณ์การจัดการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนได้ร่วมกันทำงานเป็นทีมภายใต้สิ่งที่นักเรียนชอบ และนำพาเติมเต็มให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งการพัฒนาตนเองของครูร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการจัดครูเข้ามาสอนจริงทำให้เกิดการต่อยอดอย่างต่อเนื่อง กลายมาเป็น Conative Assessment สิ่งเหล่านี้สร้างความยั่งยืนให้กับนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นด้วยการปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการ Create ทำให้มองเห็นศักยภาพเต็มที่ของครูและนักเรียนร่วมกัน

“ขอฝากนักเรียนทุกคนว่า การที่ทุกคนเข้ามาได้ถึงรอบนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ทุกคนได้เกิดความภาคภูมิใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร จะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสมากกว่าคนอื่น ๆ ขอให้เก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ให้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเสบียงความรู้ที่สะสมติดตัวและนำไปใช้ในการทำงานได้ โดยนักเรียนสามารถนำรายละเอียดตรงจุดนี้ไปสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มจากความสนใจของนักเรียนไปสู่การพัฒนาที่ใช้งานได้จริง ที่เรียกว่า Literacy ทำให้เกิดมิติสังคมของนักเรียน ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ได้เห็นความสามารถที่ถูกดึงมาเป็นศักยภาพที่สำคัญต่อไป สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณองค์การความร่วมมือสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ที่ร่วมสนับสนุนการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความร่วมมือและศักยภาพของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในการทำงานระดับนานาชาติ ขอขอบคุณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 18 แห่ง และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ที่เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้นักเรียนและครูที่ปรึกษาทุกคนประสบความสำเร็จในการแข่งขันทุกประการ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น