ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องปม กกต.จัดเลือกตั้งสว.ไม่ชอบ
ข่าวที่น่าสนใจ
วันที่ 22 ต.ค. 2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี เรื่องที่นายภิญโญ บุญเรือง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ถูกร้องที่ 1 และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องที่ 2 กำหนดวิธีลงคะแนนและรูปแบบบัตรลงคะแนน โดยมิได้ใช้วิธีลงคะแนนลับ ขัดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 33 และออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 11 วรรค 2 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 50 (10) และมาตรา 107 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 4 มาตรา 33 และมาตรา 59
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคำร้อง ผู้ร้องโต้แย้งการดำเนินการผู้ถูกร้องทั้งสองและการออกระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องอาจใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรค 3 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังประชุมปรึกษาคดี นายคงเดชา ชัยรัตน์ ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 40 วรรค 1 (5) มาตรา 41 วรรค 1 (5) และมาตรา 42 วรรค 1 (5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 และการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องที่ 1 และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคำร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 40 วรรค 1 (5) มาตรา 41 วรรค 1 (5) และมาตรา 42 วรรค 1 (5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 เป็นกรณีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และมาตรา 231 (1) กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรค 3 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213
ส่วนกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นกรณีผู้ร้องขอให้ตรวจสอบการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 บัญญัติกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรค 3 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น