“ชาวตากใบ” สิ้นหวังหลังคดีปิดฉาก จ่อส่งเรื่องศาลต่างประเทศ นำคนผิดมาลงโทษ – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาส อ่านคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ อ1516/2567 ระหว่าง นางสาวฟาดีฮะห์ ปะจูกูเล็ง กับพวกรวม 48 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน ซึ่งศาลนัดประชุมพิจารณาคดีในวันนี้ หลังจากในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 อดีตข้าราชการระดับสูง 7 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ซึ่งศาลได้ออกหมายจับ และคดีหมดอายุความไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ยังคงไม่สามารถจับกุมจำเลยทั้ง 7 คน ประกอบด้วย จำเลยที่ 1.พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ,จำเลยที่ 3 พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส ,จำเลยที่ 4 พลตำรวจเอกวงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ,จำเลยที่ 5 พลตำรวจโทมาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ,จำเลยที่ 6 พลตำรวจตรีศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส , จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ , จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) เหตุที่ศาลมีคำสั่งจำหน่าย คดีแทนพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา158 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นกรณีที่ปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความ ปรากฏต่อศาลในชั้นทำคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่คดีนี้ จำเลยทั้ง 7 คน ไม่เคยเข้าสู่การพิจารณา แต่หลบหนีจนคดีขาดอายุความ ไม่สามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ ต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ จากสภาทนายความ ในฐานะทนายฝ่ายโจทก์ เปิดเผยว่า มีคำถามของประชาชนเราสามารถไปฟ้องศาลโลกได้หรือไม่เพราะเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ คน 85 คนไม่ใช่เรื่องธรรมดา การที่จะใช้ศาลพิเศษ หรือที่เรียกกันว่าศาลอาชญากรสงคราม ซึ่งเกิดในกรณีที่เกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็เคยมี เรื่องความคิดเห็นที่จะเอามาใช้ปรับปรุงกฎหมายอายุความคดีที่มีความสำคัญเพื่อนำไปพิจารณาสภานิติบัญญัติต้องมาถกกันว่า ความผิดที่เป็นความผิดรุนแรงบางเรื่องต้องมาดูที่อายุความว่าไม่ต้องมีอายุความไหม