เปิด “กฎหมายห้ามตีเด็ก” เมื่อ “ไม้เรียว” และ ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก

ไม้เรียว สร้างคน ยังใช้ได้อีกหรือไม่? เมื่อ “กฎหมายห้ามตีเด็ก” ผ่านสภา เพราะความรุนแรงไม่ใช่ทางออก ขณะที่หลายประเทศ มีโทษหนัก และถือการ ตีเด็ก เป็น อาชญากรรม

 

กฎหมายห้ามตีเด็ก

 

Top News รายงาน “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” สุภาษิตคำพังเพยนี้ คงใช้ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อ “กฎหมายห้ามตีเด็ก” ผ่านสภาฉลุย 391 ต่อ 1 เพราะกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะ “ครู” หรือ บุคคลอื่น ที่ไม่มีสิทธิตีเด็กเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึง “พ่อ-แม่-ผู้ปกครอง” หากลงโทษลูก ด้วยวิธีเฆี่ยนตี ก็จะมีความผิดตามกฎหมายไปด้วยเช่นกัน เพราะเข้าข่ายเป็นการใช้ความรุนแรง แม้จะเป็นการลงโทษสั่งสอนด้วยคนในครอบครัวก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก แต่ยิ่งส่งผลเสีย ทั้งร่างกาย-สุขภาพจิต ของเด็ก

ข่าวที่น่าสนใจ

จุดเริ่มต้น “กฎหมายห้ามตีเด็ก” ข้อมูลตอกย้ำ เด็กไทย ถูกอบรมด้วยความรุนแรง

 

ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า แม่และผู้ดูแลเกือบ 2 ใน 5 เชื่อว่า การลงโทษทางร่างกายเด็กเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งมีเด็กอายุ 1-14 ปี มากกว่าร้อยละ 53.8 หรือคิดเป็นเด็กจำนวน 5 ล้านกว่าคน ในประเทศไทย ได้รับการอบรมโดยวิธีการรุนแรง และผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก ร้อยละ 33 เป็นบิดา หรือมารดาเด็ก

 

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ((2) ทำโทษบุตร) หัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดัน “กฎหมายห้ามตีเด็ก” ระบุว่า ในประเทศไทย แม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบ้าง แต่ในมาตรา 1567 (2) ซึ่งเป็นมาตราเดิม กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครอง มีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน แต่คณะกรรมาธิการ มีความเห็นแย้ง และมีความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยการแก้ไขมาตรา 1567 (2) และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

 

“ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร”

 

สอดรับกับ “หมอโอ๋” ผศ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และหนึ่งในคณะกรรมาธิการร่างกฎหมาย บอกว่า สังคมไทยมีความเชื่อเรื่อง “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” มานาน ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ ขอเน้นย้ำว่า องค์ความรู้สมัยใหม่และการวิจัยเกี่ยวกับสมองของมนุษย์แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความรุนแรง มักมีปัญหาในด้านการเรียนรู้ เนื่องจากสมองถูกกระตุ้นให้เน้นการเอาตัวรอดมากกว่าการพัฒนา ส่งผลให้เด็กอาจใช้ความรุนแรงตอบโต้ในอนาคต เมื่อเด็กถูกใช้ความรุนแรงบ่อยครั้ง พวกเขามักขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล

 

“ในยุคนี้แล้ว เราน่าจะเลิกถกเถียงเรื่อง “ถูกตี ก็ดีได้” เพราะการที่เราเติบโตมาได้ดี อาจไม่ได้มาจากการที่ถูกตี แต่อาจจะมาจากการที่เรารับรู้ว่า พ่อแม่รักเรา หมอย้ำเสมอว่าถ้าไม่ตี ลูกอาจจะดีกว่านี้่ได้ …เข้าใจว่า ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากตีลูก แต่พ่อแม่แค่ไม่รู้ว่า จะมีวิธีไหนที่จะใช้สอนลูกได้บ้าง ดังนั้น ถ้าเรามีกฎหมายช่วยส่งเสียงว่าความรุนแรงกับเด็กไม่มีประโยชน์ สังคมจะตั้งคำถามไปในทางบวกแทนว่า แล้ววิธีการแบบไหนดีที่จะช่วยพัฒนาเด็กไทยได้ไกลกว่าเดิม” คำกล่าวของ หมอโอ๋-ผศ.จิราภรณ์ อรุณากูร

 

แต่กว่าจะผ่าน ก็เจอเสียงค้าน จน “กฎหมายห้ามตีเด็ก” นี้ เกือบคว่ำกลางสภา เมื่อ สส. ฟากรัฐบาล กังวลว่า กฎหมายนี้ จะลิดรอนสิทธิผู้ปกครองในการอบรมสั่งสอนหรือไม่ หรืออาจเป็นการทำลายความสัมพันธ์ของสถาบันครอบครัว เพราะยังเชื่อว่า “ไม้เรียว” ทำให้คนเติบโตมาได้

 

ภาพประกอบ กฎหมายห้ามตีเด็ก

เปิด “กฎหมายห้ามตีเด็ก” ประเทศไหนเริ่มเป็นประเทศแรก

 

1.สวีเดน เป็นประเทศแรกของโลก ที่ออกกฎหมายห้ามตีเด็ก และลงโทษเด็กทางร่างกาย มาตั้งแต่ปี 2522 หรือ 41 ปีมาแล้ว การลงโทษเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการ ตี ตบ หยิก ดึงผม ก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพราะข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการสวีเดน ระบุว่า ในปี 2503 เด็กวัยอนุบาล 9 ใน 10 คน ถูกผู้ปกครองทำโทษที่บ้านด้วยการตี ดังนั้น เมื่อรัฐสภาสวีเดนลงมติ ผู้ปกครอง 2 ใน 3 ก็เห็นด้วยกับคำสั่งทางกฎหมายนี้

 

การเคลื่อนไหวของสวีเดน ส่งผลให้อีกหลายประเทศ ออกกฎหมายห้ามลงโทษเด็กทางร่างกายเช่นกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฟินแลนด์และนอร์เวย์ ก็ออกกฎหมายลักษณะเดียวกันในปี 2526 และ 2530 ตามมาด้วยออสเตรีย ในปี 2532 จากนั้น ในปี 2562 ก็มีอีก 54 ประเทศ ได้ห้ามการลงโทษเด็กด้วยการตี อาทิ

 

2. สกอตแลนด์ นับเป็นประเทศแรกในสหราชอาณาจักร ที่กำหนดให้การตีเด็กเป็นความผิดทางอาญา จึงทำให้พ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็ก สามารถลงโทษเด็กเพื่อสั่งสอน ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น หากมีความจำเป็นต้องตี สามารถตีที่ตัวเด็กได้ แต่ห้ามตีที่ศีรษะ เขย่าร่างกาย หรือใช้อุปกรณ์ทำร้าย เช่น ไม้ หรือเชือก หากฝ่าฝืน ศาลจะพิจารณาโทษตามความเหมาะสม ทั้งเรื่องอายุของเด็ก ระยะเวลา หรือความถี่ในการลงโทษ และการลงโทษนั้น ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจเด็กอย่างไรบ้าง

 

3. ฝรั่งเศส สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศส ได้มีการลงมติเห็นชอบในการร่างกฎหมาย โดยห้ามตีเด็กเพื่อสั่งสอน แต่ไม่ได้ระบุว่า ถ้าหากพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ฝ่าฝืนกฎจะได้รับการลงโทษอย่างไร นอกจากนั้น กฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้คู่แต่งงานใหม่ จะต้องแลกเปลี่ยนคำสาบานเพิ่มขึ้นอีก 1 ประโยค โดยประโยคดังกล่าวจะปรากฏบนสมุดบันทึกสุขภาพของลูกอีกด้วย

 

4. ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เกิดเหตุทารุณกรรมเด็กบ่อยครั้ง จึงทำให้มีมติเพื่อร่างกฎหมายห้ามตีเด็กขึ้น โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และ ครู ห้ามลงโทษเด็กทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำโทษเพื่ออบรมหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้ระบุว่า ถ้าหากฝ่าฝืนกฎจะต้องได้รับโทษอย่างไร

 

5. เกาหลีใต้ ก็เป็นประเทศที่ยังมีค่านิยมลงโทษเด็กด้วยการตี แม้จะมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็มีบางกลุ่มที่เห็นว่า รัฐควรให้ความเป็นส่วนตัวในความเป็นพ่อแม่ และพ่อแม่ทุกคนควรมีสิทธิในการเลี้ยงลูกของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้ ได้ทำการยกเลิกสิทธิการตีเพื่อทำโทษเด็ก ออกจากประมวลกฎหมายแพ่ง ส่วนการตีเด็กในโรงเรียนนั้น ได้ถูกกำหนดเป็นข้อห้ามมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

 

ภาพประกอบ กฎหมายห้ามตีเด็ก

 

แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้น “กฎหมายห้ามตีเด็ก” ที่ร่าง พ.ร.บ. เพิ่งผ่านสภา เป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีบทลงโทษ แต่หากผู้ปกครองกระทำการลงโทษด้วยความรุนแรงเกินเหตุ จะไปเข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่มีบทลงโทษอยู่แล้ว หลังจากนี้ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น