กต.แจงยิบปมพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ลั่น MOU44 ไม่ใช่ปีศาจ ไม่ทำให้ไทยสูญเสีย “เกาะกูด”

กต.แจงยิบปมพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ลั่น MOU44 ไม่ใช่ปีศาจ ไม่ทำให้ไทยสูญเสียเกาะกูด

Top news รายงาน วันนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้แถลงชี้แจงประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา และเอ็มโอยู 44

โดยนางสุพรรณวษา กล่าวว่า พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน หรือ overlapping claims areas หรือที่เรียกสั้นๆว่า OCA เกิดจากการที่มีการประกาศเขตไหล่ทวีป รวมถึงการประกาศทะเลอาณาเขต ซึ่งในเส้นเดียวกันกัมพูชาได้ประกาศในปี พ.ศ.2515 ถัดมาในปี พ.ศ.2516 ไทยเห็นว่าการประกาศของกัมพูชาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะมีเส้นที่ผ่านเข้าไปตรงเกาะกูด เราจึงประกาศเขตไหล่ทวีปของเรา ซึ่งในการประกาศของทั้งกัมพูชาและไทย จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนกันทั้งหมด 26,000 ตารางกิโลเมตร สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ซึ่งเมื่อยิ่งห่างไกลออกจากตัวดินแดนไปเรื่อยๆ เช่น ไหล่ทวีป กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้บอกว่าให้ใช้วิธีไหน บอกเพียงให้ไปตกลงกัน เพื่อให้บรรลุผลอันเที่ยงธรรม โดยหลักการสากลเมื่อเกิดพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน วิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การไปเจรจา และกรมสนธิสัญญาและกฎหมายใช้มาตลอด และประสบความสำเร็จในการเจรจากับเวียดนามและมาเลเซียบางส่วน ทั้งนี้ทุกประเทศมีสิทธิที่จะประกาศอาณาเขตทางทะเล แต่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และการประกาศนั้นย่อมผูกพันเฉพาะแค่ประเทศที่ประกาศ ดังนั้นเราไม่ได้ไปยอมรับเส้นอะไรของกัมพูชา

 

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ส่วนประเด็นเอ็มโอยู 44 นั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบายสาระสำคัญว่า เอ็มโอยู 44 ช่วยเราในหลายประเด็น โดยมี 2 ประเด็นหลักคือ 1.กำหนดกรอบในการพูดคุยและสร้างกลไกลในการเจรจา ซึ่งก็คือองค์กรที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ โดยกรอบการเจรจาได้แบ่งพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร ออกเป็น 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่ที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่คุยเรื่องแบ่งเขตทางทะเล ส่วนพื้นที่ที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ให้คุยเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน และมีเงื่อนไขว่า สองเรื่องนี้ต้องคุยไปพร้อมกัน ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ ส่วนกลไกลในการเจรจา ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ Joint Technical Committee หรือ JTC ไทยและกัมพูชา ซึ่งเอ็มโอยู 44 เป็นวิธีเดียวที่ ณ ตอนนี้ ที่เรามีอยู่ ที่จะสามารถบรรลุผลประโยชน์สูงสุดของประเทศได้

 

นางสุพรรณวษา กล่าวอีกว่า ทางกัมพูชาก็เห็นว่าเอ็มโอยู 44 เป็นพื้นฐานที่ดี สามารถดำเนินการเจรจาต่อไป และทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ กระทรวงการต่างประเทศจะต้องเสนอองค์ประกอบคณะต่างๆเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และเราได้เสนอองค์ประกอบของJTCใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แล้ว รอวันครม.อนุมัติ เมื่อครม.อนุมัติองค์ประกอบเราก็จะจัดการประชุมฝ่ายไทย และทาบทามกัมพูชาให้มีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับไทย เมื่อเราเซ็ตองค์ประกอบเสร็จสิ้นก็พร้อมเปิดการเจรจาต่อไปในอนาคตเร็วๆนี้

 

อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยืนยันด้วยว่า หลักการที่กระทรวงการต่างประเทศใช้ในการเจรจา ประชาชนของทั้งสองประเทศจะต้องยอมรับในข้อตกลงนี้ได้ และผลที่ได้จากการเจรจา ก็ต้องสามารถเห็นชอบโดยรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดข้อตกลงที่จะได้ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังยืนยันว่าเอ็มโอยู 44 ไม่ทำให้ไทยสูญเสียเกาะกูด เพราะสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 ระบุชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย ซึ่งตัวนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราก็ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด 100%

 

 

เมื่อถามว่า เอ็มโอยู 44 ขัดกับพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปหรือไม่ นางสุพรรณวษา ชี้แจงว่า การดำเนินการตามเอ็มโอยู 44 สอดคล้องกับข้อความที่อยู่ในพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีป เพราะได้ระบุไว้ว่า แผนที่จุดต่างๆที่กำหนดพิกัด ภูมิศาสตร์ เป็นเพียงแสดงแนวทางทั่วไปของเส้นที่กำหนดเขตไหล่ทวีป ซึ่งเราใช้พื้นฐานของอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีปปี ค.ศ.1958 ในการประกาศพระบรมราชโองการตรงนี้ แต่ทั้งนี้สิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรที่จะสำรวจและแสวงหาผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเล ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประกาศทับซ้อนพื้นที่ตรงนี้ อีกทั้งเนื้อหาของพระบรมราชโองการประกาศนี้ ก็เข้าใจถึงหลักการกฏหมายระหว่างประเทศ ที่บอกว่าทุกประเทศมีสิทธิที่จะประกาศฝ่ายเดียว แต่ก็ผูกพันแค่ประเทศที่ประกาศ เมื่อเกิดการทับซ้อน ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปเจรจา ซึ่งเอ็มโอยู 44 มีเจตนารมณ์เพื่อที่จะบอกว่า เป็นความตกลงเพื่อให้ไปคุยเจรจา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดไว้ในตัวกฎหมายไทย

 

เมื่อถามว่าเอ็มโอยู 44 เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาหรือไม่ นางสุพรรณวษา ย้ำว่า ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์ที่จะเคลม แต่จะผูกพันเฉพาะประเทศที่เคลม ไม่ได้มีผลในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศที่จะสร้างพันธกรณีตรงนี้ แต่แน่นอนมันเกิดข้อพิพาท สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องไปเจรจา ฉะนั้นเอ็มโอยูไม่ใช่ตัวร้าย หรือปีศาจร้ายที่จะมาสร้างพันธอะไรให้เรา อีกทั้งได้ระบุในเอ็มโอยูข้อ 5 ที่มีข้อความว่า บันทึกความเข้าใจนี้ และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา ย้ำว่าเอ็มโอยู 44 สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุว่าเมื่อเกิดข้อพิพาท แต่ละประเทศก็ไปคุยกัน ดังนั้นเส้นของเรายังอยู่ ไม่ต้องห่วงประเด็นนี้ ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาแต่อย่างใด

 

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเห็นว่าเอ็มโอยู 44 ทำให้ไทยเสียเปรียบ อยากให้ยกเลิก และครม.ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ได้มีมติให้ยกเลิกแล้ว เหตุใดเราถึงไม่ยกเลิก และรัฐบาลปัจจุบันยังใช้เอ็มโอยู 44 ในการเจรจากับกัมพูชา อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ชี้แจงว่า ช่วงปี 2552 เป็นช่วงที่ไทยมีความสัมพันธ์กับกัมพูชาค่อนข้างท้าท้ายอยู่หลายประเด็น การเจรจาในช่วงนั้นจึงลุ่มๆดอนๆ ซึ่งการเจรจาเรื่องเขตแดนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ และการเจรจาเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องค่อนข้างเทคนิคและเกี่ยวข้องกับความรักชาติพอสมควร มันเลยเกิดปัญหาในช่วงนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยูให้ ครม.พิจารณา เพราะเมื่อไม่มีความคืบหน้า เอ็มโอยูก็ไม่มีความจำเป็น ซึ่งครม.รับในหลักการ แต่ก็บอกว่าให้ไปพิจารณาให้รอบคอบในแง่กฏหมาย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็ดำเนินการตามนั้น จึงหารือทีมที่ปรึกษาต่างชาติ รวมถึงประชุมคณะกรรมการพิเศษที่พิจารณาเรื่องอนุสัญญาต่างๆ และปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงพลังงาน กฤษฏีกา แล้วก็ได้ข้อสรุป โดยในปี 2557 เราเห็นว่าเอ็มโอยู 44 ยังคงมีประโยชน์ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย นำไปสู่การเจรจาที่เป็นผลสำเร็จได้ จึงเสนอกลับเข้าไปยังที่ประชุมครม.ในปี 2557 ให้ทบทวนมติครม.ปี 2552 และหลังจากปี 2557 ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ เราก็จะเสนอทุกรัฐบาลว่าให้ใช้กรอบการเจรจาเอ็มโอยู 44 เป็นพื้นฐานน่าจะเหมาะสมที่สุด และเป็นที่ยอมรับของกัมพูชาด้วย และทุกรัฐบาลก็ยอมรับว่าน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

 

 

เมื่อถามถึงกรณีเขื่อนกันคลื่นของกัมพูชา อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงก็คือว่า มีเอกชนของกัมพูชาไปสร้างเป็นท่าเรือ ซึ่งออกมาจากโรงแรมเกาะกง สร้างตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นลักษณะการถามดินเข้าไปในทะเลประมาณ 100 เมตร เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบข้อมูล เราก็ทำการประท้วงทันทีและดำเนินการทั้งหมด 3 ครั้ง ปี 2541 ปี 2544 และปี 2564 ซึ่งทำให้เอกชนหยุดการก่อสร้าง แต่ก็มีบางส่วนที่กินเข้ามาในพื้นที่เส้นที่เราเคลม เราจึงต้องแสดงสิทธิเหนืออธิปไตยบริเวณนั้นก่อน อีกทั้งกระทรวง กองทัพเรือ และสมช.ก็ติดตามอยู่ว่าจะเจรจาต่อไป และยกประเด็นนี้หารือในกรอบอื่นๆที่เรามีกับกัมพูชาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เจพาร์ค ศรีราชา” จัดพิธีอัญเชิญเทพเจ้าโอคุนินุชิ ประทับในศาลเจ้าโอคุนิ ศาลเจ้าชินโตแห่งที่สามของประเทศไทย
ก้าวสู่ปีที่ 5 Future Food Leader Summit 2025 ชวนสร้างไอเดีย บนแนวคิด “อาหารฟื้นฟูเพื่ออนาคต” เปิดตัว Future Food AI ครั้งแรกในเอเชีย
TIPH คว้าอันดับเครดิตองค์กรสูงสุดของกลุ่มโฮลดิ้งส์ ตอกย้ำศักยภาพผ่านการประเมินจากทริสเรทติ้ง
"บิ๊กเต่า" เตรียมส่งทีมสอบ "บอสพอล" ปมเส้นเงิน 8 แสน โยงแม่นักการเมือง ส.
"วราวุธ" ขออย่านำ "เกาะกูด" เป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ชี้ MOU 44 ไม่เกี่ยวข้อกังวลทุกฝ่าย
แม่ค้าขนมครกโอดยอมกัดฟันสู้ หลังราคาน้ำกะทิขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 100 บาทแต่ยันขายขนมครกราคาเดิมกลัวลูกค้าหด
"นายกฯ" เผย ครม.อนุมัติ 2.5 พันล้าน ฟื้นฟูเกษตรกร หลังน้ำลด
หนุ่มขับรถกระบะไปส่งหมู หลับในขับรถพุ่งชนฟุตบาท พลิกคว่ำตีลังกาชนเสาไฟ ดับคารถพร้อมเพื่อนต่างด้าวที่นั่งมาด้วยกันเสียชีวิต 2 ศพ
ครม.ตั้ง “บิ๊กรอย” นั่งที่ปรึกษาภูมิธรรม “คารม-ศศิกานต์” เป็นรองโฆษกรบ.
พบแล้ว "สุสานหรู" ถูก "ซินแส" ใช้ลวงเหยื่อ ซื้อที่ดินต่อดวงชะตาชีวิต ก่อนสูญเงินกว่า 30 ล้านบาท

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น