รายงานอ้างผลศึกษาของสหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติในสหรัฐฯ หรือ NRF เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 พ.ย.) ว่า หากใช้ภาษีศุลกากรใหม่ ชาวอเมริกันจะสูญเสียกำลังซื้อสินค้าชนิดต่าง ๆ เช่น เครื่องแต่งกาย ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในครัวเรือน รองเท้า และสินค้าท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 หมื่น 6 พันล้าน ถึง 7 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี
โจนาธาน โกลด์ รองประธานฝ่ายนโยบายด้านห่วงโซ่อุปทานและภาษีศุลกากร ของ NRF กล่าวว่า ผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯจำนวนมาก พึ่งพาสินค้าและอุปกรณ์การผลิตนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำเสนอสินค้าหลากหลายแก่ลูกค้าในราคาที่ซื้อหาได้ ภาษีศุลกากร คือภาษีที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯเป็นคนจ่าย ไม่ใช่ต่างประเทศ หรือผู้ส่งออก สุดท้าย ภาษีนั้นก็จะต้องจ่ายเป็นเงินจากกระเป๋าของผู้บริโภคในราคาที่แพงกว่าเดิม
รายงานของ NRF ยกตัวอย่างเครื่องปิ้งขนมปัง ราคา 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะปรับขึ้นเป็น 48 ถึง 52 ดอลลาร์หลังขึ้นภาษี , ฟูกที่นอนและฐานรองที่นอน จาก 2,000 ดอลลาร์ อาจจะแพงขึ้นเป็น 2,128 ดอลลาร์ ถึง 2,190 ดอลลาร์
ช่วงดำรงตำแหน่งสมัยแรก รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ เก็บภาษีนำเข้าอัตราสูงสุด 25% กับสินค้าจีน รวมมูลค่ากว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนเข้ามา ก็คงภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ไว้ในอัตราเดิม ทั้งยังเพิ่มเก็บภาษีสินค้าหมวดใหม่ เช่น รถไฟฟ้า และไมโครชิพ แต่ทรัมป์ประกาศว่า มีแผนจะเก็บภาษีสินค้าจากจีนถึง 60% และเก็บภาษีอัตรา 10-20% กับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ มูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เตือนว่าการจัดเก็บภาษีศุลกากรที่เข้มงวดเช่นนี้ จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออีกครั้ง เนื่องจากผู้บริโภคในสหรัฐ จะเป็นผู้จ่ายภาษีเหล่านั้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นมุมมองทั่วไปที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองขั้วการเมืองเห็นพ้องกัน
ด้าน บัดเจ็ด แลบ (Budget Lab ) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มหาวิทยาลัยเยล ระบุในบทวิเคราะห์เผยแพร่เมื่อกลางเดือนตุลาคมว่า ผลการวิจัยเชิงทฤษฎีและเชิงประจักษ์ สอดคล้องกันในทางเศรษฐศาสตร์ ว่า ผู้บริโภคและบริษัทในประเทศ จะแบกรับภาระภาษีศุลกากร ไม่ใช่ต่างประเทศ
ทรัมป์ โต้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า บริษัทต่างชาติจะเป็นฝ่ายแบกรับภาษีนี้เอง โดยเขาเพิ่งบอกในที่ประชุม อีโคโนมิก คลับ ออฟ ชิคาโก เมื่อเดือนที่แล้ว ว่า ประเทศต่างๆ จะเป็นผู้จ่ายภาษีศุลกากร แต่ในความเป็นจริง ผู้นำเข้าอเมริกัน จะจ่ายภาษีให้กับหน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ เมื่อสินค้าของพวกเขาข้ามพรมแดนเข้ามา
ด้าน สถาบันเศรษศาสตร์ระห่างประเทศปีเตอร์สัน ประเมินว่า มาตรการภาษีของทรัมป์ จะเป็นการโยกภาระจากคนรวยไปยังชาวอเมริกันรายได้ต่ำถึงปานกลาง และอาจทำให้ครัวเรือนรายได้ปานกลาง จ่ายภาษีเพิ่มปีละ 1,700 ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี อ็อกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่ทรัมป์จะตั้งอัตราภาษีแค่ไหน และเป็นกระบวนการที่จะต้องผ่านสภาสหรัฐฯ ที่อาจใช้เวลาเกือบ 1 ปี ดังนั้น ผลกระทบทางลบอาจจะยังไม่รู้สึกจนกว่าจะปี 2026
ทรัมป์ยืนยันว่า การใช้มาตรการภาษี จะเป็นการบีบบังคับบริษัทอเมริกัน ต้องผลิตสินค้าบนแผ่นดินสหรัฐฯ แทนการซื้อจากต่างประเทศ แต่ฟิลิป แดเนียล ซีอีโอ “ออโต้ โซน” ซับพลายเออร์อะไหล่รถ ที่ใช้ผู้ผลิตหลายรายในจีน อินเดีย และเยอรมนี บอกกับวอลล์สตรีท เมื่อปลายเดือนกันยายนว่า ถ้าภาษีนำเข้าเพิ่ม ก็จะส่งต่อต้นทุนนั้นกลับไปยังผู้บริโภค แนวทางนี้ไม่คุ้มทุน และบริษัทปรับราคาขึ้นล่วงหน้า ก่อนจะรู้ว่าสุดท้ายภาษีนำเข้าจะเป็นเท่าไหร่
ด้าน โดนัลด์ อัลลัน จูเนียร์ ซีอีโอบริษัทผลิตเครื่องมือ สแตนลีย์ แบล็ค แอนด์ เดคเกอร์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บริษัทเตรียมแผนรับความเป็นไปได้ เรื่องการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ตั้งแต่หลายเดือนก่อน ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าราคาสินค้าที่โยงกับภาษีใหม่ จะต้องเพิ่มขึ้น ส่วนแนวคิดย้ายฐานการผลิตกลับไปสหรัฐฯนั้น ซีอีโอรายนี้มองว่า ไม่คุ้มทุน ทางเลือกบริษัทอาจเป็นการย้ายการผลิตและซับพลายเชนบางส่วนไปยังประเทศต่าง ๆ ของโลก รวมถึงย้ายจากจีน ไปยังประเทศอื่นในเอเชีย หรือเม็กซิโก
ซึ่งแนวทางที่ว่า บริษัท แอคเม ยูไนเต็ด (Acme United) ในเมืองเชลตัน รัฐคอนเนคติคัต ได้ดำเนินการแล้ว โดย วอลเตอร์ จอห์นเซน ซีอีโอบริษัทฯ กล่าวว่า เวลานี้ ผลิตภัณฑ์แบรนด์ “เวสต์คอตต์” เช่น ไม้บรรทัด บริษัทฯทำการผลิตในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีที่พุ่งเป้าจีน และย้ายการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์บางตัว ไปอินเดีย อียิปต์ และบางส่วนไปที่โรงงานในฟลอริดา นอร์ทแคโรไลนา และรัฐวอชิงตัน
ภาคธุรกิจในสหรัฐฯยังพากันสต็อกสินค้าเพิ่ม โดยจากสถิติพบว่า สหรัฐฯนำเข้าสินค้าจีน ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เพิ่มขึ้นกว่า 11% เมื่อเทียบเดียวกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน