“อดีตสว.สมชาย” แนะรบ.ควรยึดหลัก 7 ข้อเจรจากัมพูชา ลั่นต้องไม่เสียดินแดน
ข่าวที่น่าสนใจ
12 พ.ย.2567 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการเจรจาเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชาว่า ควรยึดหลักการสำคัญ 7 ข้อ ไม่เสียดินแดน ไม่ขายชาติ
1)คณะเจรจาJTC ที่รัฐบาลจะตั้งขึ้น ต้องยึดหลักในการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลตลอดแนวให้ได้ข้อยุติให้ได้ก่อน แล้วจึงจะเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันได้ เพราะหากเจรจาแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันไปก่อนมีข้อยุติเรื่องเส้นเขตแดน ก็จะเข้าข่ายยอมรับเอาเส้นเขตแดนที่กัมพูชาประกาศฝ่ายเดียวโดยไม่มีกฎหมายรองรับ อาจส่งผลต่อการเสียดินแดนของรัฐและอธิปไตยทางทะเลไทย ตามเส้นเขตแดนกัมพูชาอ้างในอนาคตอย่างแน่นอน ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อคราวศาลโลกตัดสินให้ไทยเสียอาณาเขตรอบปราสาทพระวิหาร 4.3 ตารางกิโลเมตร เพราะการเพิกเฉยไม่คัดค้านเอกสาร แผนที่และหลักฐานบางอย่างให้ชัดเจน
2)คณะกรรมการเจรจาฝ่ายไทย ควรยึดหลักในการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลตลอดแนวไทย-กัมพูชา ตามข้อมูลประกอบสำคัญคือ ไทย-เวียดนาม มีพื้นที่ทับซ้อนที่ยอมรับกันเพียงแค่ 6,000 ตารางกิโลเมตร ไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลยอมรับกันเพียงแค่ 7,250 ตารางกิโลเมตร ไทย-กัมพูชามีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมากมายถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร เหตุใดไทย-กัมพูชาจึงมี พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมากกว่าพื้นที่ทับซ้อนของไทย มาเลเซีย และไทยเวียดนามถึง 3-4 เท่า ?
3) เส้นเขตแดนกัมพูชาพ.ศ. 2515 นั้น ผิดห่างไกลไปจากความจริงและจากหลักกฎหมายมาก ถ้ายึดหลักการเส้นแบ่งครึ่งระหว่างเกาะกูดกับเกาะกงหรือโขดหินใด ๆ ที่กัมพูชาอ้างนั้น อาจเหลือพื้นที่ ที่อาจทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาจริง แค่ไม่กี่ตารางกิโลเมตร หรือพอๆกับเวียดนามและมาเลเซียใช่หรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ อาจมีพื้นที่ทับซ้อนเพียงแค่ไม่เกิน 6-7,000 ตารางกิโลเมตร เท่านั้น นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ไทยจะได้พื้นที่ถูกอ้างทับซ้อน คืนมา 19,000 ตารางกิโลเมตร และอาจแบ่งส่วนที่เป็นปัญหาจริง 50/50 กับกัมพูชา ในพื้นที่สูงสุดไม่เกิน7,000 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น สรุปคือจะเป็นพื้นที่ทางทะเลไทย 19,000 +3,500 =22,500 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนตามที่กัมพูชาอ้าง 26,000 ตารางกิโลเมตรอย่างแน่นอน
4)หากคณะเจรจาของไทยเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้ ต้องยุติการเจรจา และควรปล่อยไว้เช่นนั้นต่อไป เพราะแหล่งพลังงานเป็นสมบัติของชาติเป็นของลูกหลานไทย หากใน5-10ปี การเจรจาไม่มีความคืบหน้าในเรื่องเขตแดนทางทะเลที่ถูกกฎหมายและเป็นที่พอใจจนยุติได้ ควรให้ทั้งสองฝ่ายหารือกันเพื่อส่งศาลโลกพิพากษาชี้ขาดต่อไป
5)รัฐบาลควรนำกรอบเจรจาที่จะมอบหมายคณะเจรจาJTCไปดำเนินการใด ๆ ส่งเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178
6)กรณีนี้หากรัฐบาลมีข้อสงสัยว่า MOU 44 หรือบันทึกข้อตกลงนี้เป็นหนังสือสัญญา ที่อาจเข้าข่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นไรแล้ว จะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดต่อไป
7)คณะเจรจาและผู้เกี่ยวข้องพึงยึดหลักการสำคัญเรื่องอธิปไตยดินแดนของรัฐไทย ต้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศและตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 ในการรักษาอธิปไตยทั้งทางบกทางทะเลทุกตารางนิ้วอย่างเคร่งครัด การดำเนินการโดยจงใจใดๆหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำการผิดพลาด เป็นเหตุทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรไทยตกอยู่ใต้อธิปไตยรัฐต่างประเทศ ซึ่งหมายความรวมถึงดินแดนของรัฐไทยทั้งทางบก ทางทะเล ใต้ท้องทะเล และทางอากาศ ผู้นั้นอาจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ อาจต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 ด้วย ฝากเตือนมาด้วยความหวังดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น