อับบาส อารักชี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ให้สัมภาษณ์ทีวีทางการอิหร่าน เมื่อวันเสาร์ (16 พ.ย.) ที่ผ่านมาว่า อิหร่านพร้อมให้ความร่วมมือกับ ไอเออีเอ และพร้อมชี้แจงโครงการนิวเคลียร์ของตน แต่ไอเออีเอจะต้องไม่ใช้แรงกดดันทางการเมืองมาบีบบังคับกัน
การให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน มีขึ้นก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารไอเออีเอ ที่ประกอบด้วยสมาชิก 35 ประเทศในสัปดาห์นี้ ซึ่งกรรมการหลายรายรวมถึงฝรั่งเศส อังกฤษและเยอรมนี เตรียมสนับสนุนมติใหม่ มุ่งเพิ่มการมอนิเตอร์สถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยเป้าหมายใหญ่คือการบีบอิหร่าน ให้ยอมรับเงื่อนไขใหม่ ๆ เพื่อคุมเข้มกิจกรรมทางนิวเคลียร์
อารักชี กล่าวว่า อิหร่านแสดงความเป็นมืออาชีพต่อไอเออีเออย่างครบถ้วนแล้ว ขณะที่ไอเออีเอ เป็นหน่วยงานด้านเทคนิค ก็ควรปฏิบัติหน้าที่ในด้านเทคนิค ไม่มีสิทธิ์ที่จะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง หากมีการผ่านมติที่เป็นไปในทางต่อต้านอิหร่าน / อิหร่านก็จะตอบกลับด้วยการดำเนินมาตรการใหม่ ๆ ในโครงการนิวเคลียร์ที่ไอเออีเอจะไม่ชอบอย่างแน่นอน และว่าอิหร่านมีความพร้อม ทั้งการเผชิญหน้า และร่วมมือ ขึ้นอยู่กับการกระทำของไอเออีเอ ซึ่งเขาได้แสดงจุดนี้ต่อ ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA ระหว่างไปเยือนอิหร่านเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ตะวันตกมองว่า การเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของอิหร่าน เป็นความพยายามอย่างลับ ๆ เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านยืนกรานปฏิเสธ
ในปี 2558 อิหร่านกับชาติมหาอำนาจทำความตกลงว่า อิหร่านจะจำกัดโครงการนิวเคลียร์ แลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ฉีกข้อตกลงนี้ในปี 2561 จากนั้นมา อิหร่านเดินหน้าเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียม และจำกัดการเข้าตรวจสอบของไอเออีเอ
ความพยายามกอบกู้ข้อตกลงประวัติศาสตร์ยังคงชะงักงัน การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้โอกาสทางการทูตยิ่งน้อยลง เพราะทรัมป์ประกาศไว้แล้วว่าจะใช้นโยบายกดดันอย่างสูงสุด
อารักชี กล่าวว่า อิหร่านพร้อมเจรจาทำความตกลงกันใหม่ หากตะวันตกวางเงื่อนไขบนผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ยอมรับว่า โอกาสทางการทูตมีไม่มากนัก
ด้าน กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA กล่าวหลังเยือนอิหร่าน ว่า ขีดความสามารถในการเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของอิหร่านเวลานี้ ใกล้ถึงเกณฑ์สำหรับการผลิตอาวุธได้ และเรียกร้องให้อิหร่านกับมหาอำนาจ เร่งเจรจาให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม มองเห็นและจับต้องได้ ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง ทำให้พื้นที่การเจรจาและการทูตเล็กลงทุกขณะ พร้อมเตือนว่า อย่าโจมตีที่ตั้งทางนิวเคลียร์อิหร่าน เพราะสารกัมมันตรังสีจะส่งผลกระทบทั่วทั้งภูมิภาค