วันที่26 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยกับ TOPNEWS ว่า ได้ยื่นด่วนหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ขอเสนอให้พิจารณาปรับเวลาปิดร้านอาหารเป็น 22.00 น. เป็นอย่างน้อย
โดยตามที่ศบค. ได้มีการผ่อนคลายให้ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เปิดให้บริการนั่งรับประทานในร้านได้ และกำหนดให้ร้านอาหารเปิดจำหน่ายได้ถึงเวลา 20:00 น. ซึ่งต่อมาได้รับทราบจากกระแสข่าวว่า จะมีการพิจารณาขยับเวลาให้เปิดจำหน่ายได้ถึงเวลา 21:00 น.นั้น ทางสมาคมภัตตาคารไทยได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่า การจำหน่ายอาหารในรอบเย็นนั้น ร้านอาหารส่วนใหญ่ ตัวเลขผลประกอบการลดลงเหลือเพียง 5-10% โดยเวลาปิดทำการ 20:00 น. เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง รวมถึงช่วงเวลานี้เป็นฤดูมรสุม ทำให้เกิดฝนตกในช่วงเวลาเย็นบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อการค้าขาย โดยเฉพาะร้านตามบาทวิถี ที่จำหน่ายตอนเย็น ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เวลาในการขายลดลงเหลือเพียง 1-2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากจะมีการขยับเวลาปิดร้านเป็น 21:00 น. ตามที่มีกระแสข่าวนั้น ขอเรียนให้ท่าน ทราบว่าช่วงเวลา 1 ชั่วโมงไม่ได้เพิ่มโอกาสทางการขายมากขึ้นแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับการขยับเวลาเพิ่มเป็น 2 ชั่วโมง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากผลกระทบที่ปฏิบัติตามมาตรการบังคับของศบค .
หากศบค.จะพิจารณาเพิ่มเวลาเปิดทำการค้าขายให้ถึงเวลา 22:00 น.จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าขายได้มากขึ้น จึงเรียนมาเพื่อ ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จะกรุณาพิจารณาปรับเพิ่มเวลาให้ร้านอาหารเปิดทำการรับลูกค้านั่งรับประทานในร้านได้ถึงเวลา 22:00 น.เป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้เตรียมเสนอแนวทางผ่อนคลายมาตรการกิจการ กิจกรรมต่างๆ ต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.) รวมถึงการปรับเวลาเคอร์ฟิวจากเดิม 21.00-04.00 น. เป็นเวลา 22.00-04.00 น. ซึ่งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานที่กลุ่มกีฬากลางแจ้ง ที่ร่มโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก การซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ตลาดนัด จะขยายเวลาปิดให้บริการในเวลา 21.00 น. จากเดิมเป็นเวลา 20.00 น.
นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่าการเพิ่ม 2 ชั่วโมง มันช่วยได้ทั้งร้านอาหารในมื้อเย็น ที่เป็นร้านอาหาร เป็นภัตตาคาร หรืออยู่ในห้างสรรพสินค้า การขยับปิดเป็น 4 ทุ่ม มันไม่ได้ช่วยแต่ร้านอาหาร เชื่อว่ามันต้องขยับธุรกิจอื่นไปด้วย ซึ่งเขาก็รออยู่ หรือแม้กระทั่งบาทวิถี หรือสตรีทฟู้ด ช่วงนี้เราจะเห็นว่าฝนตกตอนเย็น เพราะฉะนั้น แม่ค้าที่มีเวลาขายแค่ 3 ทุ่ม อยู่ไม่ได้จริงๆ เราเคยไปสำรวจมาแล้วในช่วงต้นปี 64 ที่เปิดให้ขายแค่ 3 ทุ่ม บาทวิถีอยู่ไม่ได้เลย เราเข้าใจสถานการณ์ช่วงนี้ว่า โควิดยังมีอยู่เยอะพอสมควร แต่เราเป็นเด็กดีมานานแล้ว ช่วยเราหน่อย จริงๆ ถ้าไม่เดือดร้อนถึงที่สุด ก็คงไม่ได้ตัดสินใจที่จะต้องทำจดหมายอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นความหวังของแม่ค้า ทั้งบาทวิถีและร้านที่เป็นภัตตาคารด้วย จึงอยากจะวิงวอนให้คณะรัฐมนตรี หรือคณะผู้บริหารศบค. ชุดใหญ่ที่จะประชุมกันพรุ่งนี้ เห็นใจพวกเราซึ่งเป็นเด็กดี ปฏิบัติตามมาตรการทุกอย่างของทางราชการมาโดยตลอด
สมาคมภัตตราคารไทย เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการภัตตราคาร ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ว่ายังไม่พร้อมในการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting หากจะมีการบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และ มาตรการตรวจ ATK พนักงานกลุ่มเสี่ยง
ดังนั้น สมาคมภัตตาคารไทยในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม จึงขอความกรุณามายังท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กรุณาพิจารณาดำเนินการเลื่อนการบังคับใช้มาตรการ COVID Free Setting ออกไป จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม เพื่อให้สอดรับกับรอบการฉีดวัคฉีดเข็ม 2 และเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการเตรียมจัดหาชุดตรวจ ATK เนื่องจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาทางการเงินเพราะไม่สามารถเปิดกิจการได้ตามปกติ ตามมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และเพิ่งจะกลับมาให้บริการนั่งรับประทานในร้านได้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา
นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวด้วยว่า บุคลากรร้านอาหาร จำนวน 63,000 คน จะได้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 2 แล้วเสร็จประมาณวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเริ่มบังคับใช้มาตรการ COVID Free Setting ดังกล่าวด้วย