ทว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ พื้นที่ทั่วประเทศ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สถานการณ์อุทกภัยใหญ่ของประเทศไทยครั้งนั้น มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลก็ตกอยู่ในภาวะลำบากในการรับมือกับสถานการณ์ นางสาวยิ่งลักษณ์เองก็ใช้ช่องทางของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในการความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคมในการร่วมกันฝ่าวิกฤติในครั้งนั้น
กระทั่ง วันที่ 11 ตุลาคม 2554 ได้เกิดภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น พร้อมแกนนำพรรค อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช นายอลงกรณ์ พลบุตร นายศิริโชค โสภา นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต นายวิทเยนทร์ มุตตามระ ฯ เดินทางไปที่ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อหารือกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีหลายคนในขณะนั้น ถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยพร้อมเสนอให้รัฐบาลนำพื้นที่คลังสินค้าของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งมีพื้นที่ 70,000 ตร.ม.มาเป็นพื้นที่รองรับประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย
นายอภิสิทธิ์ จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งในตอนหนึ่งของการสนทนา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวกับนายอภิสิทธิ์ด้วยว่ารัฐบาลพร้อมยินดีจะรับฟังคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากทุกด้าน โดยอยากให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติโดยทั้งรัฐบาลและภาคประชาชนมีการทำงานร่วมกัน “เรายินดีรับข้อเสนอในทุกอย่าง ตอนนี้เราทำเพื่อชาติ”
และในระหว่างที่พูดคุยกัน นายกรัฐมนตรีได้มีการหยิบยกเรื่องการป้องกันแนวคันกั้นน้ำ โดยระบุว่าจะใช้กำลังทหารในการเสริมแนวคันกั้นนำ และเร่งเรื่องการระบายน้ำออกจากพื้นที่วิกฤต ซึ่งการทำงานได้เชิญทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน และเชิญกรุงเทพมหานครมาร่วมกันทำงานด้วย
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ได้บอกด้วยว่า อย่าได้เป็นกังวลกับเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้จะต้องร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของต่างพรรค จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เชิญนายอภิสิทธิ์ และคณะเข้าไปหารือร่วมกัน ในที่ประชุมศูนย์ ศปภ. โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ขณะนั้นเป็นรมว.ยุติธรรม และผู้อำนวยการศูนย์ศปภ. ร่วมหารือด้วย เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการหารือเรื่องการเตรียมป้องกันสถานการณ์น้ำที่จะอาจจะทะลักเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการนำแผนที่มาประกอบการหารือด้วย
ภายหลังการพบกันในครั้งนั้นระหว่างหัวหน้ารัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้าน “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือร่วมกับนายอภิสิทธิ์ ว่า ได้อธิบายถึงสถานการณ์ลุ่มน้ำ ภาพรวมของพื้นที่กทม.ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและกรุงเทพมหานครส่วนนายอภิสิทธิ์ เพียงแค่สอบถามและเป็นกังวลในเรื่องของศูนย์ผู้อพยพสำรอง
ในครั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า ต้องการเสนอ3 แนวทางให้รัฐบาลพิจารณา คือ 1.ยุบศูนย์ต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ให้เหลือเพียงศูนย์เดียว เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ 2.กำหนดพื้นที่การแก้ปัญหาให้ชัดเจน และเร่งอพยพคนที่ติดน้ำอยู่ให้ออกมาอย่างรวดเร็ว 3.นายกฯ ควรประกาศใช้อำนาจพิเศษตามความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น