นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมต.สาธารณสุข แถลงผลปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ทำการนำหมายศาลเข้าตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหา 7 ราย จากการก่อเหตุ แฮ็กเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมรายชื่อผู้มีสิทธิที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด -19 เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้มีรายชื่อดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่จะทำการฉีดวัคซีนให้
โดยจากข้อมูลพบว่ารายชื่อที่กลุ่มผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบมีมากกว่า 1,000 รายชื่อ โดยมีการเรียกเก็บเงินในการเพิ่มรายชื่อ รายละ 200-1,000 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวรสอบสวนพยานกว่า 200 ปาก ก่อนจะยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญาผู้ต้องหา 7 ราย โดยผู้ต้องหาบางรายเป็นพนักงานเอาท์ซอร์สเครือข่ายบริษัทมือถือ
ขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาทั้งหมดโดนจับในความผิดฐาน “ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ ,ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยร่วมกันกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ,ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกง”
นายอนุทิน ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนจากหน่วยงานของรัฐ รวมถึงที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าวัคซีน และ ค่าดำเนินการใดๆ ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำผู้ต้องหา 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่ลงมือเพิ่มรายชื่อผู้มีสิทธิฉีดวัคซีนเข้าไปยังระบบ ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพในจุดที่ใช้ลงมือก่อเหตุ
โดย 1 ใน 2 ผู้ต้องหา สารภาพว่า การกระทำไม่ได้เป็นการตัดโควตาของประชาชนทั่วไป ในแต่ละวันผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือจะมีโควต้าในการใช้ลงทะเบียน ตนจึงใช้ตรงจุดนั้นในการลงทะเบียน รอที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายวัคซีนทำให้ปริมาณวัคซีนในแต่ละวันมีจำนวนเพียงพอที่จะเพิ่มจำนวนตามความต้องการของตนเอง โดยเริ่มแรกเป็นการลงทะเบียนให้กับคนรู้จักเพื่อที่อยากจะช่วยให้ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว จากนั้นก็มีคนมาติดต่อให้ตนลงทะเบียนการฉีดวัคซีนให้กับคนอื่น โดยให้ค่าจ้างหัวละ 200-300 บาท ก่อนที่คนที่มาจ้างตนจะนำไปบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก อย่างน้อย 3 ทอด โดยมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงสุดถึง 1,000 บาทในแต่ละคน ซึ่งในส่วนของตนเองตลอดเวลาที่ทำการทุจริตได้เงินไปประมาณ 3 – 4 ล้านบาท ส่วนเงินที่ได้นำไปใช้จ่ายหนี้สินที่เกิดจากช่วงการระบาดของเชื้อโควิด 19 เนื่องจากว่ารายได้ที่ได้จากการทำงานสุจริตได้เพียงวันละ 500 บาท