แม้ว่าช่วงนี้ข่าวสารประเด็นอื่นๆ จะอยู่ในความสนใจของสังคมมากกว่า “ปลาหมอคางดำ” แต่โครงการจับปลาของกรมประมงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบยังคงเดินหน้าต่อเนื่องไม่แผ่ว ตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศไว้ คือ จับออกจากแหล่งน้ำให้เร็วที่สุดและมากที่สุด ตามด้วยการใช้ประโยชน์จากปลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนวันนี้มีการรายงานว่าปริมาณปลาหมอคางดำในหลายจังหวัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเรียนรู้จากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและประสบการณ์ความเสียหายจากโรคระบาดสัตว์หลายครั้ง มาปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงเพื่อป้องกันโรคและลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับผลผลิตได้
สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยจำนวนไม่น้อยยังเลี้ยงแบบดั้งเดิม (Extensive Shrimp Culture) หรือที่เรียกกันว่าเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยการเปิดให้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อเวลาน้ำขึ้นเข้ามาในบ่อเลี้ยงและกักเก็บน้ำไว้ และอาศัยพันธุ์ลูกกุ้งจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่จะมีศัตรูของกุ้ง เช่น ปู และปลา ไหลปะปนเข้าไปในบ่อด้วย ซึ่งเกษตรกรจะปล่อยให้กุ้งอยู่ในบ่อเลี้ยงประมาณ 6 เดือน – 1 ปี โดยอาศัยอาหารตามธรรมชาติในบ่อเลี้ยง เช่น แพลงตอนและพืช และเกษตรกรจะให้อาหารในช่วงที่ใกล้จะจับสัตว์น้ำเพื่อให้ได้น้ำหนักดี นอกจากรายได้หลักจากกุ้งแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้อีกส่วนหนึ่งจาก ปูและปลา แต่วิธีนี้ทำให้ได้ผลผลิตกุ้งต่ำและเสี่ยงจากโรคระบาดสูง โอกาสขาดทุนสูงจนต้องเลิกเลี้ยงทิ้งบ่อกุ้งกลายเป็นบ่อร้างในหลายพื้นที่