รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกรณีที่ ศบค. มีมติขยายระยะเวลาการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน เนื่องจากการจัดทำโครงสร้างหน่วยงานรองรับการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตามการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติยังไม่แล้วเสร็จ ในเบื้องต้นโครงสร้างใหม่จะมีการตั้งศูนย์อำนวยการโรคติดต่อแห่งชาติ หรือ (ศรช.) รวมถึงการพิจารณาหาผู้มาทำหน้าที่บูรณาการงานแทน ศบค. และ ศปก.ศบค. ที่บริหารงานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. กำลังพิจารณาว่าจะให้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือหัวหน้าส่วนราชการมาทำหน้าที่ในส่วนเลขานุการฯ เพราะสถานการณ์โควิด-19 คงไม่จบในเร็วๆ นี้
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นอกจากตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบแล้วยังต้องดูความพร้อมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการจะเป็นไปตามตามมาตรการของ ศบค.ใหญ่ ที่มีกฎหมายเก่าเป็นกรอบการปฏิบัติ แต่กฎหมายใหม่มีความครบเครื่อง เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างความเข้มงวด รวดเร็วของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่บัญญัติไว้อย่างคลอบคลุม ข้าราชการในจังหวัดที่รับผิดชอบอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีอำนาจอะไรบ้างที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างของศูนย์บูรณการแก้ไขปัญหาโควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีนายกฯเป็นประธาน ถ้ายุบ ศบค.โครงสร้างนี้ก็จะหายไปด้วย ดังนั้นจึงต้องอุดช่องว่าง เมื่อโครงสร้างใหม่และร่างกฎหมายเสร็จ รัฐบาลก็จะประกาศเป็นพระราชกำหนด และประกาศใช้ในทันที เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง และเมื่อเปิดประชุมสภาฯ ก็ค่อยนำให้สภาฯพิจารณาเห็นชอบต่อไป