วันนี้ขอมอง “ปลาหมอคางดำ” (Sarotherodon melanotheron) ผ่านข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในหลายช่องทางตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งจากสื่อมวลชน เกษตรกร-ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ ด้วยคำถามว่าข้อเท็จจริงของใครที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะต่างคนต่างมีมุมมองตามพื้นฐานความรู้และความเชื่อของตน และที่สำคัญที่สุดยังไม่การพิสูจน์อย่างเป็นทางการว่า ปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ มาจากแหล่งเดียวกันกับที่บริษัทเอกชนผู้ขออนุญาตนำเข้าเพียงรายเดียว หรือเป็นปลาที่ถูกลักลอบนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายจากหลักฐานการส่งออกของทางราชการที่เปิดเผยต่อสาธารณชน
ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ ให้ข้อมูลการพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของต้นตอปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศไทย เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในประเด็นนี้อาจมีข้อจำกัดหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการนำข้อมูลมาใช้ เช่น การตรวจสอบและวิเคราะห์ทางพันธุกรรม ด้วย DNA barcoding ของปลาหมอคางดำที่ระบาดในปัจจุบัน ควรดำเนินการด้วยจำนวนยีนที่มากขึ้น เช่น control region (D-loop) cytochrome b และ/หรือ cytochrome oxidase subunit 1 (COI) จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการระบุสายพันธุ์ปลาหมอคางดำ แทนการอ้างอิงจากข้อมูลพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดในอดีตเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สมบูรณ์ทั้งในแง่ที่มาของตัวอย่างที่ทำการศึกษา ลำดับนิวคลีโอไทด์ และความถูกต้องในการแปลผลการทดลองที่ได้ ทำให้ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของปลาหมอคางดำที่เคยระบาดในอดีต และปลาที่กำลังระบาดในปัจจุบันของประเทศไทยได้
ฃ