ปปง.สั่งยึดทรัพย์ ‘ทนายตั้ม’ 71 ล้านบาท จากคดีฉ้อโกงฯ “เจ๊อ้อย”
ข่าวที่น่าสนใจ
16 ธ.ค. 2567 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. และนายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 15/2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปผลการดำเนินการที่น่าสนใจ ดังนี้ มีการยึด และอายัดทรัพย์สิน 12 คดี ทรัพย์สินกว่า 234 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 836 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินในคดีสำคัญเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ได้แก่ คดีนายษิทรา กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีเหตุที่อันควรเชื่อได้ว่ามีการโอน ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 3 รายการ เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 71 ล้านบาท
นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ยังได้มีการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 6 คดี ทรัพย์สินกว่า 119 รายการ มูลค่าประมาณ 287 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด และมีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้
1.รายคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ปจำกัด กับพวก มีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน รวมจำนวน 103 รายการ มูลค่าประมาณ 286 ล้านบาท และมีมติให้เพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สินจำนวน 40 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 29 ล้านบาท เนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงหลักฐานว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกดำเนินการไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทั้งนี้ ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ครบกำหนดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 จากนั้นสำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบ และรวบรวมรายชื่อผู้เสียหาย และจำนวนความเสียหาย เพื่อพิจารณาก่อนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืน หรือชดใช้คืนให้กับผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหาย แทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
อนึ่ง การส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีนี้ หากสำนักงาน ปปง. มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีนี้เพิ่มเติม จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น