“โรคห่า”เขมือบพม่า! ไทยสั่งปิดด่านด่วน “รพ.ชเวโก๊กโก๋” โร่ขอยา จ.ตาก

ด่วน! สั่งปิดด่านไทย-พม่า ห้ามเข้าออก 100% ผวา “อหิวาตกโรค” ระบาดหนักในเมียวดี ป่วยอื้อ-ดับแล้ว 2

“โรคห่า”เขมือบพม่า! ไทยสั่งปิดด่านด่วน “รพ.ชเวโก๊กโก๋” โร่ขอยา จ.ตาก

ข่าวที่น่าสนใจ

ทำเอาแตกตื่นกันทั้งชายแดน เมื่อมีข่าวออกมาว่า เกิดการระบาดของโรคร้ายแรงอย่าง อหิวาตกโรค ในฝั่งเมียนมา ขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตแล้ว โดยบรรยากาศบริเวณชายแดน อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เงียบเหงาเลยทีเดียว หลังทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู อ.แม่สอด จ.ตาก เพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย หลังได้รับรายงานว่า เกิดการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ในพื้นที่เมืองชเวโก๊กโก๋ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก

มีรายงานว่า ผู้ป่วยที่ถูกส่งไปรักษาตัว ที่โรงพยาบาลชเวโก๊กโก๋ มีจำนวนกว่า 300 ราย ในจำนวนนี้ มีอาการรุนแรง 56 ราย ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย รวมเป็น 2 ราย และผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทาง รพ.ชเวโก๊กโก๋ ได้ประสานขอการสนับสนุนด้านการแพทย์มายัง รพ.แม่ระมาด โดยแจ้งว่า ถ้าไม่สามารถส่งผู้ป่วยมาที่ รพ.แม่ระมาดได้ จะขอรับการสนับสนุนยา และเวชภัณฑ์ เพื่อรักษาผู้ป่วย และป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งทาง รพ.แม่ระมาด ได้ให้การสนับสนุนยา และเวชภัณฑ์ ไปบางส่วนแล้ว

โรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้ทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งรับผิดชอบชายแดนไทย-เมียนมา ขอให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง งดการเดินทางผ่านช่องทาง ท่าข้าม และช่องทางธรรมชาติ เป็นเวลา 1 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ส่วนกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดน ให้สวมหน้ากากอนามัย, ถุงมือทางการแพทย์, การล้างชำระร่างกาย หรือ มือ หลังจากสัมผัสสิ่งของ ตลอดจนรักษาสุขอนามัยในการบริโภคอาหาร และน้ำดื่ม รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า, ผู้ประกอบการท่าข้าม ให้เพิ่มความเข้มงวดการรักษาสุขอนามัย ของผู้ขับขี่รถขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

ล่าสุด นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลแม่ระมาด เกี่ยวกับการระบาดของอหิวาตกโรค ในเมืองชเวโก๊กโก๋ โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 56 ราย และผลตรวจเบื้องต้น ด้วยชุดตรวจแบบเร็ว ยืนยันว่าเป็นอหิวาตกโรค

ในเบื้องต้น รพ.แม่ระมาด ได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์บางส่วน เพื่อช่วยเหลือและควบคุมโรคในพื้นที่ระบาด นอกจากนี้ ทีมสอบสวนโรคจาก อ.แม่ระมาด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือ หากเกิดการระบาดในฝั่งไทย

สำหรับมาตรการป้องกันที่สำคัญ ได้แก่ เฝ้าระวังผู้ป่วยอุจจาระร่วง โดยสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจ พร้อมสำรองยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ / ให้ความรู้แก่ประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น หอกระจายข่าว แอปพลิเคชัน และโรงเรียน โดยเน้นย้ำมาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และจัดหาน้ำดื่มสะอาด /ตรวจสอบสิ่งแวดล้อม เช่น สุขาภิบาลอาหาร น้ำประปา และร้านอาหารในชุมชน โดยเพิ่มระดับคลอรีนในน้ำประปา ให้อยู่ที่มาตรฐาน 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร / รวมถึงเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ข้ามมารักษาในฝั่งไทย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำชุมชน อสม. และโรงเรียนที่มีเด็กจากฝั่งเมียนมา

นพ.สุภโชค กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดในฝั่งเมียนมา ยังมีแนวโน้มต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ย้ำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน เฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น และให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากพบอาการอุจจาระร่วง หรือมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค และรักษาได้อย่างทันท่วงที

สำหรับโรคอหิวาตกโรค หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ “โรคห่า” ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลก โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะแพร่กระจายผ่านการบริโภคน้ำ หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ

 

อาการของโรคที่เด่นชัดคือ ท้องเสียรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ลักษณะใสคล้ายน้ำซาวข้าว อาเจียนรุนแรง และร่างกายขาดน้ำอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะช็อก และเสียชีวิตได้ ส่วนการรักษา มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขภาวะขาดน้ำ และการรักษาอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้น โดยวิธีการรักษาที่สำคัญคือ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เพื่อทดแทนน้ำ และเกลือแร่ที่สูญเสียไป และการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

 

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบริโภคอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่มีสุขอนามัยไม่ดี แหล่งน้ำเสีย อาหารทะเลดิบ และการจัดการอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนการแพร่ระบาด มักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ที่ขาดแคลนทรัพยากร และมีระบบสาธารณสุขที่ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย

 

การป้องกันโรค สามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการต้ม หรือกรอง บริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรค ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันโรคได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สุดทน "พ่อพิการ" ร้อง "กัน จอมพลัง" หลังถูกลูกทรพี ใช้จอบจามหัว-ทำร้ายร่างกาย จนนอน รพ.นับเดือน
สลด กระบะชนจยย.พลิกคว่ำตก "ดอยโป่งแยง" เชียงใหม่ เจ็บตายรวม 13 ราย
“สมศักดิ์” ยกนวดไทยเป็นมรดกชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ เล็งพาหมอนวดโกอินเตอร์ โชว์ฝีมืองาน เวิลด์เอ็กซ์โปโอซาก้า ญี่ปุ่น
ห่ามาแล้ว! “แม่สอด” พบติดเชื้ออหิวาต์ เผยญาติฝั่งพม่าซื้อข้าวมากินด้วยกัน
ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ สั่งตั้งคกก.สอบ "ตร.จราจร" รีดเงินแทนเขียนใบสั่ง
สตม. บุกทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลางคอนโดหรูห้วยขวาง รวบ 6 คนจีน อึ้งเจอซิมการ์ด 2 แสนซิม
ครูบาอริยชาติ เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ฉลองสมโภช 18 ปีวัดแสงแก้วโพธิญาณ และทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 44 ปี
กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา "ชวาล" ส.ส.พรรคประชาชน ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ โทษคุก-ตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
จีนเตือนสหรัฐกำลังเล่นกับไฟหลังส่งอาวุธให้ไต้หวัน
อิลอน มัสก์วิจารณ์แรงผู้นำเยอรมันเหตุโจมตีตลาดคริสต์มาส

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น