เซาท์ไชนามอร์นิ่งโพสต์ รายงาน ผลการวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไหหลำหรือไห่หนานของจีนพบว่า ทุเรียนที่ปลูในจีนขาดสารอาหารสำคัญที่พบอยู่ในทุเรียนที่ปลูกในไทย โดยพบว่า ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในจีนไม่มี สารเคอร์ซิติน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเลย ในขณะที่ทุเรียนหมอนทองของไทยมีสารเคอร์ซิตินในปริมาณมาก
ขณะที่พันธุ์ก้านยาวที่ปลูกในไหหลำ มีสารเคอร์ซินตินต่ำกว่า ก้านยาวที่ปลูกในไทยถึง 520 เท่า และต่ำกว่าหมอนทองของไทยถึง 5 แสน 4 หมื่นเท่า และไม่สามารถตรวจพบกรดแกลลิก สารประกอบที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ,การอักเสบ และมะเร็ง ในทุเรียนก้านยาวของไหหลำ แต่พบอยู่น้อยมากในทุเรียนหมอนทองของไหหลำ ซึ่งผลการศึกษาทุเรียนไทยในปี 2551 พบว่า ทุเรียนหมอนทองของไทยมีกรดแกลลิก 2 พัน 72 ไมโครกรัมต่อทุเรียน 100 กรัม สูงกว่าปริมาณกรดแกลลิกที่พบอยู่ในทุเรียนหมอนทองจีนถึง 906 เท่า
จาง จิง หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยซานย่า หนานฟาน แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไหหลำ อธิบายว่า ความแตกต่างของสภาพอากาศและปริมาณแร่ธาตุและสารอาหารในดิน น่าจะส่งผลต่อการสะสมสารอาหาร ในระหว่างกระบวนการเจริญเติบโตของทุเรียน ซึ่งอาจส่งผลให้มีสารบางชนิดในปริมาณที่สูงขึ้น ในขณะที่บางชนิดอาจไม่มี
ในบทความที่ตีพิมพ์ใน Food and Fermentation Industries วารสารภาษาจีน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นักวิจัยระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระหลักที่พบในทุเรียน 3 ชนิดที่ศึกษา คือ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และมูซังคิง ได้แก่ สารโปรไซยานิดิน บี1, คาเทชิน และเควอซิติน และผลการศึกษาบ่งชี้ว่า พันธุ์ก้านยาวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด
จีนเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยซื้อผลผลิตส่งออกทั่วโลกถึงร้อยละ 95 ในปี 2561 จีนได้เริ่มปลูกทุเรียนในปริมาณมากในมณฑลไหหลำ ซึ่งเป็นเกาะเขตร้อนเพียงแห่งเดียวของประเทศที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการปลูกทุเรียน
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามินซี โพแทสเซียม ไฟเบอร์ และสารอาหารอื่นๆ ซึ่งไม่มีในผลไม้อื่น การศึกษาวิจัยของไห่หนานได้เน้นไปที่สารโพลีฟีนอล สารต้านอนุมูลอิสระ ที่ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง เบาหวาน และหัวใจ เพื่อประเมินปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระของทุเรียนที่ปลูกในประเทศ ทีมงานได้เก็บตัวอย่างทุเรียนที่สุกแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์จากต้นทุเรียนในอำเภอหลี่ถิงและเหมี่ยวทางตอนใต้ของไหหลำ
อย่างไรก็ตามจางกล่าวว่า ผลการศึกษายังไม่สามารถใช้เป็นข้อบ่งชี้ถึงทุเรียนที่ปลูกในไหหลำทั้งหมด เนื่องจากเป็นการเก็บตัวอย่างจากสวนเพียงแห่งเดียว ซึ่งหลังจากนี้ทีมวิจัยจะขยายการเก็บตัวอย่างไปยังสวนอื่นๆ ในพื้นที่ และตั้งเป้าจะปรับปรุงสารอาหารต่างๆให้เพิ่มขึ้น โดยการศึกษาครั้งก่อนแสดงให้เห็นว่า ทุเรียนสามารถนำมาใช้สร้างอาหารเสริมเพื่อช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยพบสารที่ช่วยในการฟื้นฟูรังไข่อีกด้วย