“นิพนธ์” ชี้ “กระจายอำนาจ” สร้างเข้มแข็งชุมชน สำคัญต่อการพัฒนาปท.ยั่งยืน นโยบายรัฐแจกๆไม่ใช่คำตอบ

"นิพนธ์" ชี้ "กระจายอำนาจ" สร้างเข้มแข็งชุมชน สำคัญต่อการพัฒนาปท.ยั่งยืน นโยบายรัฐแจกๆไม่ใช่คำตอบ

หันซ้ายมองขวาในแวดวงการเมืองเริ่มพบเห็นน้อยเต็มทีสำหรับนักการเมืองที่เข้าใจบริบทของการกระจายอำนาจ (การเมืองท้องถิ่น) แม้กระทั้งคนที่ผันตัวเองไปเล่นการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจบริบทของการเมืองท้องถิ่น หรือการกระจายอำนาจ

หันซ้ายไปผมก็เจอแค่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” หันขวาก็เจอ “นิพนธ์ บุญญามณี” ที่พอจะเข้าใจการเมืองท้องถิ่นอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลที่จาตุรนต์เป็นคนขับเคลื่อน พรบ.แผนแม่บทและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ทำมากับมือ เพียงแต่ในขั้นการปฏิบัติอาจจะล่าช้าในการถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งน่าจะเกิดจากการหวงอำนาจของส่วนกลาง

ส่วนนิพนธ์ บุญญามณี โตทางการเมืองมาจากการเมืองท้องถิ่น เป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.)สงขลามาหลายสมัย เป็นประธานสภาจังหวัดสงขลา เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็น สส.สงขลา 8 สมัย และเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และสนใจศึกษา เรียนรู้การเมืองท้องถิ่นจริงจัง

ส่วนคนรุ่นใหม่อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร ก็แค่สนใจการกระจายอำนาจจากการอ่านตำรา ไม่เคยปฏิบัติจริง จึงเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ยุบโน้นยุบนี้เกี่ยวกับราชการส่วนภูมิภาค ประสบการณ์ไม่มีจริง จึงทำให้ก้าวไกล ประชาชนไม่เคยประสบความสำเร็จในเวทีท้องถิ่น

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางชุมชน ทิศทางประเทศไทย” ภายในงาน “15 ปีสัมมาชีพ สานพลังไทย สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานที่คลุกคลีกับประชาชนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จนถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “หากต้องการทำให้ประเทศไทยเข้มแข็ง ต้องสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก นั่นคือชุมชนและท้องถิ่น” ซึ่งหากทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็ง ซึ่งการกระจายอำนาจถือเป็นหัวใจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

ข่าวที่น่าสนใจ

จะเห็นได้ว่าในอดีตความเจริญถูกกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่หรือมหานคร ขณะที่ชนบทยังคงขาดแคลนทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทุุกด้านและโอกาสในการพัฒนา แม้ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีความพยายามในปรับปรุงชนบทผ่านการสร้างสาธารณูปโภค แต่เมื่อเริ่มยกฐานะ สภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อปี 2537 ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทเริ่มลดลง และถึงวันนี้คงเหลือแต่เพียง เมืองขนาดเล็ก ขนาดกลางและเมืองขนาดใหญ่

วันนี้เราต้องตั้งคำถามกันและหาแนวทางกันว่าจะทำอย่างไรให้เมืองมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน เพราะหากทำได้ ความยากจนเชิงโครงสร้างก็จะลดลง และชุมชนก็จะสามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองมหานครกับเมืองขนาดเล็กขนาดกลาง เราต้องเร่งสร้างเมืองมหานคร ใหม่ๆ
ในภูมิภาค ให้เติบโตเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองขนาดเล็ก

พร้อมกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาค เราต้องกระจายความเจริญไปให้ทั่วทุกพื้นที่ ทำให้ทุกจังหวัดสามารถเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาได้เหมือนกรุงเทพฯ นี่ต่างหากคือทางรอดในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวถึงนโยบายการ “แจกเงิน” ที่ฝ่ายการเมืองมักใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และส่งผลให้ชุมชน สังคม
ยิ่งอ่อนแอลง “การแจกเงินเหมือนการแจกปลา แต่ไม่สอนให้จับปลา สุดท้ายคนก็จะรอแค่ว่า รัฐบาลจะแจกอะไรต่อไป โดยไม่คิดถึงการสร้างโอกาสหรืออาชีพที่ยั่งยืน

“การแก้ไขปัญหาความยากจนที่แท้จริง ต้องมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และกระจายโอกาสให้เท่าเทียมกัน ที่สำคัญ ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ แทนที่จะใช้ยาแก้ปวดสูตรเดียวแก้ทั้งประเทศ การจะแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ ต้องเหมือนหมอที่วินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ ต้องจ่ายยาให้เหมาะสมกับคนไข้ เพราะแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบล ต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน เราจึงต้องวางนโยบายที่ตอบโจทย์ของพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวเน้นย้ำว่า แทนที่รัฐบาลจะมุ่งเน้นการแจกเงินแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลควรเปลี่ยนแนวทางไปสู่การพัฒนาคน โดยสร้างทักษะและความรู้ที่เท่าทันเทคโนโลยีในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน ลดเวลาเรียนที่ไม่จำเป็น และมุ่งเน้นการเรียนรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง

 

นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่พูดคุยกันในเวทีนี้ จะต้องไม่เป็นเพียงแค่คำพูดที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ต้องนำมาสู่การปฏิบัติจริง โดยเน้นการหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และเดินหน้าไปพร้อมกัน หากเราร่วมมือกันในสิ่งที่เห็นตรงกัน มันจะสร้างพลังและพลวัตรที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศได้อย่างแท้จริง และหากเรากระจายอำนาจ กระจายโอกาสให้ทุกคนอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนที่ทุกคนปรารถนาอย่างยั่งยืน

ความเห็นของนายนิพนธ์ บุญญามณี น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่หลายพรรคการเมืองในขณะนี้พยายามผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจให้บรรลุผลได้

โดย นายหัวไทร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เปิดภาพวงจรปิด แม่สะพายลูกวัย 4 เดือน ขี่รถจยย.ชนท้ายรถบรรทุก แม่ดับ-ลูกสาหัส
คู่หู ‘มนุษย์หิมะ’ ยักษ์ ยิ้มแย้มต้อนรับในจีน
ฝ่ายค้านเกาหลีใต้ยื่นถอดถอนรักษาการณ์ปธน.
หลายประเทศเอเชียจัดพิธีรำลึก 20 ปีสึนามิพัดถล่ม
โรงรับจำนำ กทม. ลดดอกเบี้ยพิเศษ 20% ทุกวงเงิน มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนกรุงฯ
รพ.แม่สอด รุกรับมือ “อหิวาตกโรค” ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ยายเปิดใจ พูดถึงปมเสียชีวิต “แบงค์ เลสเตอร์” น้ำตาซึม ไม่มีหลานคงเคว้งคว้าง
“สุริยะ” จ่อรื้อกฎหมายเพิ่มโทษ "เมาแล้วขับ" หวังลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์
“ณัฐพงษ์” ยิ้มรับฉายา ”เท้งเต้ง“ ลั่นไม่ขอเทียบแสง ”พิธา“ ฟุ้งพรรคปชน.มีผลงานชัด
ตอบเคลียร์ “พิพัฒน์” แจงกระทู้ถามสดปมเอกสารรับรอง 'แรงงานต่างด้าว' กวดขันเข้มป้องกันแย่งอาชีพสงวนคนไทย -ตรวจคัดกรองโรค

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น