อธิการบดี “ม.สยาม” แจงไม่เกี่ยวข้อง ปมอบรมอาสาตร.จีน เป็นบุคคลภายนอก จ่อลงโทษแจ้งเอาผิด

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ตั้งโต๊ะแถลง แจงปมอบรมอาสาสมัครตำรวจจีน ยืนยันทางมหาวิทยาลัยสยามไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นบุคคลภายนอกที่ดำเนินการ ทำโดยพลการ จ่อลงโทษวินัย-แจ้งความอาญา

อธิการบดี “ม.สยาม” แจงไม่เกี่ยวข้อง ปมอบรมอาสาตร.จีน เป็นบุคคลภายนอก จ่อลงโทษแจ้งเอาผิด – Top News รายงาน

ม.สยาม

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 เวลา 15.00 น. ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตั้งโต๊ะแถลงข่าว กรณี นักศึกษาจีนอบรมอาสาตำรวจ ที่ตึก 19 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสยาม

โดย ดร.พรชัย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวที่มีการอ้างถึงมหาวิทยาลัยสยาม มีความร่วมมือกับสำนักงานสืบสวนกลาง กองบังคับการนครบาลภาค 3 โดยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวคนละ 38,000 บาท ว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่า เป็นผู้เสียหายในการแถลงเรื่องดังกล่าว เมื่อทราบเรื่องดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามหาวิทยาลัย เคยดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการช่วยเหลือประชาชนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือตำรวจจราจร ตำรวจกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งเรื่องต่างๆ ที่ดำเนินการมาไม่เคยมีปัญหา เนื่องจากทำไปตามขั้นตอน แต่ครั้งนี้ มีปัญหา เพราะมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งกรรมการฯได้เริ่มสอบสวนตั้งแต่วันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมสอบสวน

ดร.พรชัย ยังกล่าวถึงผลการสอบสวน ปรากฎว่า 1.การอบรมหลักสูตรอาสาสมัครตำรวจบ้านที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นโดยบุคคลภายนอกที่รู้จักฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายนอกในการจัดทำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 โดยมี ดร.หลี่ จาง (Dr.LI ZHANG) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดอบรม เพื่อให้ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรมและการดูแลตนเองแก่นักศึกษาจีนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่ได้เสนอขออนุมัติจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยามแต่อย่างใด

และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง การจัดอบรมที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ จัดขึ้นระหว่างวันที่25-27 ธันวาคม 2567 โดยในวันที่25 ธันวาคม 2567 มีการเปิดอบรมที่ห้องเรียน 1006 อาคาร 12 มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งการเปิดอบรมดังกล่าวไม่ได้เสนอขออนุมัติใช้สถานที่จากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด สำหรับในวันที่ 26-27 ธันวาคม 2567 เป็นการอบรมนอกสถานที่ มิได้มีการอบรมในมหาวิทยาลัย และการไปอบรมนอกสถานที่ดังกล่าว นักศึกษาจีนและบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เสนอขออนุมัติเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ดร.พรชัย ยังกล่าวถึง หนังสือขอความร่วมมือในการจัดทำโครงการดังกล่าวไปยังผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เป็นหนังสือที่ร่างและจัดทำขึ้นมาจากบุคคลภายนอก แต่มีการลงนามโดย ดร.หลี่ จาง (Dr.LI ZHANG) นั้น เป็นการใช้ตำแหน่งที่มิได้แต่งตั้งเป็นทางการตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย และผู้ลงนามได้ลงนามไปโดยพละการไม่ได้เสนอขออนุมัติจากมหาวิทยาลัยก่อน อีกทั้งหนังสือดังกล่าวก็ไม่ได้ดำเนินการผ่านระบบสารบรรณของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

ต่อมา กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ได้มีหนังสือตอบรับไปยัง Dr.Li ZHANG เพื่อจัดส่งวิทยากรไปร่วมโครงการด้วย ซึ่งถ้าดูจากจดหมายเชิญเหล่านั้นจะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่ไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่มหาวิทยาลัย หรือ ชื่อมหาวิทยาลัยที่ใช้คำว่ามหาลัย และผู้ที่ลงนามไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีหรือผู้บริหารแต่อย่างใด

สำหรับการเก็บเงินค่าลงทะเบียนเข้าร่วมอบรม จำนวน 38,000 บาท ตามที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ นั้น Dr.Li ZHANG ยืนยันว่านักศึกษาจีนและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการอบรมทั้งหมด ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนแต่อย่างใด ประกอบคำยืนยันจากการสัมภาษณ์นักศึกษาจีน และ บุคลากรประจำของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการอบรมดังกล่าว

ส่วนการเก็บเงินค่าลงทะเบียนจาก บุคคลภายนอกที่เข้าร่วมการอบรมดังกล่าวด้วยนั้น Dr.Li ZHANG แจ้งว่าไม่ได้รับทราบมาก่อน เป็นการดำเนินการของบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย และเงินดังกล่าวก็มิได้เข้ามาในระบบการเงินของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด อีกทั้งมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการจ่ายเงินให้แก่วิทยากรและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกิจกรรม ที่จัดขึ้น

ส่วนเรื่องการติดต่อประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมตามโครงการ ตลอดจนการมอบประกาศนียบัตร การเตรียมอุปกรณ์เพื่อแจกให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น หมวก เสื้อกั๊ก ป้ายคล้องคอ Dr.Li ZHANG แจ้งว่า บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

 

กรณีนี้มหาวิทยาลัยสยาม ต้องถือว่า เป็นผู้เสียหายด้วย เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แต่เป็นการดำเนินการโดยพลการของบุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมกับบุคคลภายนอก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก จากนี้มหาวิทยาลัยจะดำเนินการทางวินัย และลงโทษบุคลากรตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2563 และจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยสยามโดยมิชอบ ตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 และจะวางมาตรการในการป้องกันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

จับแล้ว "จ่าเอ็ม" อดีตทหารเรือ มือสังหาร "อดีต สส.กัมพูชา" เสียชีวิต
“มิน พีชญา” เปิดใจครั้งแรก หลังได้รับอิสรภาพ ลั่นขอเวลาพักฟื้นดูแลตัวเอง
"พ่อ-แม่" ใจสลาย "ลูกสาว" วัย 3 ขวบดับสลด หลังติดเชื้อไวรัส ทำกล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ด่วน ศาลสั่งปล่อยตัว "บอสแซม-บอสมิน" ปมดิไอคอน หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง
ตร.บุกรวบ "หนุ่มวัย 24 ปี" เปิดเพจหลอกขายสินค้าทิพย์ ลวงเหยื่อเสียหายเกือบล้าน
ซีพี-ซีพีเอฟ หนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อสวัสดิการกำลังพลกองทัพเรือและครอบครัวต่อเนื่อง
สุดทึ่ง! สนามฟุตบอลลอยฟ้าจีนเหนือหุบเขาในเจ้อเจียง
ไอคอนสยาม ประกาศความสำเร็จ ส่งประเทศไทยเป็นเคานต์ดาวน์เดสติเนชั่นระดับโลก ทุบสถิติยอดผู้ร่วมงานพุ่งกว่า 1,000,000 คน ยอดผู้ชมทั่วโลกกว่า 100 ล้านวิว
เดินหน้ารับสมัครทุนซีพีปีที่ 46 : พลิกฟื้นการศึกษา “สร้างคนดี พัฒนาคนเก่ง” สู่สังคมแห่งความเสมอภาค
ชาวอเมริกันหนีตายไฟป่าลอสแอนเจลิส

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น