“กบฏโกก้าง” ยอมถอย ถอนทัพออก “ล่าเสี้ยว” หลังเซ็นหยุดยิงกับ “รัฐบาลทหารพม่า”

"กบฏโกก้าง" ยอมถอย ถอนทัพออก "ล่าเสี้ยว" หลัง "จีน" ตัวกลางไกล่เกลี่ย เซ็นหยุดยิงกับ "รัฐบาลทหารเมียนมา" ด้าน "เหมา นิง" ชี้ การลดระดับความตึงเครียด เอื้อต่อการรักษาพื้นที่ชายแดน "จีน-เมียนมา" ให้สงบสุข มั่นคง ขณะ "มิน อ่องหลาย" ย้ำ ให้ความสำคัญเสถียรภาพในการเลือกตั้ง

“กบฏโกก้าง” ยอมถอย ถอนทัพออก “ล่าเสี้ยว” หลังเซ็นหยุดยิงกับ “รัฐบาลทหารพม่า” – Top News รายงาน

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน แถลงว่า รัฐบาลเมียนมาและกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งเมียนมา หรือ MNDA ซึ่งเป็นกองกำลังกบฏชาวโกก้าง ที่เคลื่อนไหวอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกัน ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 มกราคม)

การเจรจาที่นำไปสู่การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าว มีขึ้นที่ นครคุนหมิงของจีน มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นการเจรจารอบที่ 7  กระทรวงต่างประเทศจีน เปิดเผยด้วยว่า ทั้งสองฝ่าย ได้แสดงความขอบคุณจีน ที่เป็นตัวกลาง สำหรับความพยายามในการส่งเสริมผลลัพธ์ของการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ด้วย

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่า การลดอุณหภูมิของสถานการณ์ทางตอนเหนือของเมียนมาลง เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในเมียนมา และทุกประเทศในภูมิภาค  และมีส่วนทำให้เกิดความมั่นคง เสถียรภาพ และการพัฒนาพื้นที่ชายแดนระหว่างจีนและเมียนมา

และว่า จีน จะยังคงส่งเสริมสันติภาพและการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกระบวนการสันติภาพทางตอนเหนือของเมียนมา…

ทั้งนี้ กลุ่ม MNDA เป็นหนึ่งในกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ที่ทำการต่อสู้กับกองกำลังรัฐบาลทหารเมียนมาในพื้นที่ ที่พวกเขามองว่า เป็นดินแดนของตน MNDA ยังจับมือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ที่ยังมีกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอ้าง และกองทัพอาระกัน (AA) ซึ่งเปิดฉากการสู้รบต่อต้านรัฐบาลทหารเมื่อปลายเดือนตุลาคมปี 2566 โดยสามารถยึดพื้นที่กว้างใหญ่ใกล้ชายแดนติดจีนไว้ได้

ด้าน นักวิเคราะห์หลายคน กล่าวว่า จีน มีความกังวลเกี่ยวกับการรุกคืบของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งผลักดันกองทัพออกจากพื้นที่ชายแดนสำคัญ และเริ่มบุกโจมตีเมืองมัณฑะเลย์ เนื่องจากความวุ่นวายตามแนวชายแดนความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการค้า….

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ขณะที่ เมียนมา นาว รายงานว่า กองทัพโกก้าง เห็นชอบที่จะคืนการควบคุมเมืองหลวงของรัฐฉานทางตอนเหนือ ให้กับ รัฐบาลทหารเมียนมา ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงฉบับใหม่

ตัวแทนของคณะรัฐประหารเมียนมาและกองทัพโกก้าง ได้สรุปข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันเสาร์ หลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยมี จีน เป็นตัวกลาง

กองทัพโกก้าง หรือ MNDAA เป็นองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวโกก้าง … เป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่พูดภาษาจีนกลาง มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ติดกับมณฑลยูนนานของจีน ….

แม้ว่า แถลงการณ์ของจีน จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขของข้อตกลงเพียงเล็กน้อย  แต่แหล่งข่าวในเมียนมาร์และจีน ยืนยันว่า กองกำลังของกองทัพโกกัง จะต้องถอนกำลังออกจากเมืองลาเสี้ยว ทางตอนเหนือของรัฐฉาน …. ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของกองทัพเมียนมา ภายในเดือนมิถุนายน …

ทางการจีน กดดันให้ MNDAA ถอนกำลังออกจากลาเสี้ยว และยุติการสู้รบกับคณะรัฐประหารเมียนมา มานานหลายเดือนแล้ว  พร้อมทั้งขู่ว่าจะดำเนินการกับผู้บัญชาการกลุ่มโกกัง และจำกัดการขนส่งเชื้อเพลิง ยา อาหาร พร้อมสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ไปยังดินแดนของกลุ่มฯ ผ่านชายแดนจีน

ทั้งนี้ ทางการจีน ได้เปิดจุดผ่านแดน ในเมือง ชินชเว ฮอว์ ทางตอนเหนือของรัฐฉานแล้ว ซึ่งเป็นเมืองในเขตปกครองพิเศษรัฐฉาน 1  ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของโกก้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ กำหนดให้เป็นเขตปกครองตนเองโกก้าง ในรัฐธรรมนูญของเมียนมา พ.ศ. 2551

โฆษกของพรรคสหรัฐว้า และกองทัพสหรัฐว้า ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ ที่ควบคุมดินแดนอื่นๆ ในรัฐฉานทางตอนเหนือและตะวันออก ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า ด่านชายแดนสะพานนัมทิต ในตำบลนัมทิต ได้เปิดให้บริการอีกครั้งแล้ว โดยได้รับอนุญาตจากทางการจีน

ทั้งนี้มีรายงานว่า ทางการจีน ได้ควบคุมตัว เผิง ต้าซุ่น ผู้บัญชาการ กองกำลังโกงก้าง ไว้ในประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่า เขากำลังเข้ารับการรักษา  เนื่องจากเกรงว่า เผิง ต้าซุ่น อาจกดดันกองทัพโกก้าง ไม่รับข้อตกลงกับกองทัพเมียนมา ในการถอนทหารออกจากเมืองลาเสี้ยว

การเปิดเผยถึงการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าว มีขึ้นหลังจาก นาย โมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ประเทศที่เป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนในปีนี้ แถลงถึงผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่เมืองลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 19 มกราคม โดยระบุว่า อาเซียน ได้แจ้งกับรัฐบาลทหารเมียนมา ว่า แผนการจัดการเลือกตั้งทั่วไปของพวกเขา ท่ามกลางสงครามกลางเมือง ที่ทวีความรุนแรงนั้น ไม่ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกในตอนนี้คือ การหยุดยิง พร้อมกันนี้ อาเซียน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมา เริ่มการเจรจาและยุติความเป็นปรปักษ์ในทันที…

 

กบฏโกก้าง

ส่วนทางด้าน พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ในปี 2568 ที่ กรุงเนปิดอว์  เขากล่าวว่า ประชากรของประเทศ ลดลงเหลือเพียง ประมาณ 51 ล้านคนเท่านั้น จากอัตราการเกิดที่ลดลง เนื่องจากการอพยพ และเสียชีวิตจากสาเหตุต่าง ๆ

เขาเตือนว่า การลดลงของจำนวนประชากร อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน และส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง  แม้ว่า ผู้นำรัฐประหาร จะให้คำมั่นอยู่บ่อยครั้งว่า การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในปีนี้เป็นระยะ ๆ ในพื้นที่ ที่ความปลอดภัยเอื้ออำนวย แต่เขายังไม่ได้ประกาศวันที่ใด ๆ ออกมา

สำนักข่าว อิรวดี รายงานว่า พื้นที่ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร กำลังลดลงเรื่อยๆ  เนื่องจาก กลุ่มปฏิวัติต่าง ๆ เช่น กองทัพอาระกัน (AA) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังป้องกันชินแลนด์ (CDF) ยังคงสู้รบ ยึดครองพื้นที่ต่อไป  การสู้รบได้ลุกลามเข้าสู่เขตอิรวดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพม่าแล้ว  รัฐบาล ยังคงดำเนินการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ต่อพื้นที่ที่ควบคุมโดยกองกำลังปฏิวัติ แต่ก็ไร้ผลสำเร็จ

รายงานการสำรวจสำมะโนประชากรเบื้องต้นของคณะรัฐประหาร ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้ว ยอมรับว่า สามารถนับจำนวนประชากรได้เพียง 145 ตำบล จากทั้งหมด 330 ตำบลทั่วเมียนมาร เท่านั้น

สาเหตุประการหนึ่งของการอพยพระหว่างประเทศจำนวนมากคือ กฎหมายเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหาร ซึ่งบังคับให้คนหนุ่มสาวจำนวนมาก ต้องหนีออกนอกประเทศ  ตามการสำรวจสำมะโนประชากร ในปี 2565 พบว่า ชาวพม่า อยู่ที่ 55.8 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่า ประชากรลดลงเกือบ 4 ล้านคน ในเวลาเพียงกว่า 2 ปี

มีพลเรือนจำนวนมาก เสียชีวิตจากการสู้รบระหว่างคณะรัฐประหารและกองกำลังปฏิวัติ รวมถึงการโจมตีทางอากาศ และการยิงปืนใหญ่จากระบอบการปกครองด้วย

อย่างไรก็ดี มิน ออง หล่าย อ้างว่า ประเทศกำลังดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยสัญญาว่า จะจัดหาเงินทุนที่จำเป็น ท่ามกลางไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างตลอดทั้งวัน ค่าใช้จ่ายของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบัน อยู่เหนือความสามารถในการจ่ายของคนส่วนใหญ่

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"เซเลนสกี" อกแตก "ทรัมป์-ปูติน"ส่งซิกหากัน
"บุญสงค์" ฟันไม่เลี้ยง แก๊งปลอมใบตรวจสุขภาพต่างด้าว
"มูลนิธิยังมีเรา" มอบเงิน 1 แสน บาท "มูลนิธิ สรส." สมทบทุนการศึกษา เด็กเรียนดีแต่ขาดโอกาส
ไฟไหม้สกีรีสอร์ตตุรกีนักท่องเที่ยวดับ 66 คน
อียู-จีนวิตกทรัมป์ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีส
นายกฯ หารือประธานผู้บริหาร DP World พัฒนาศก.ภาคใต้ ดันไทยสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน
นายกฯ เดินซุปเปอร์มาร์เก็ตดาวอส ปลื้มอาหารไทยเป็นที่ต้องการ รบ.ลุยผลักดันส่งออก
"ชาวบ้านสีคิ้ว" สุดทน รวมตัวนับสิบคน ขับไล่เจ้าอาวาสวัด-ทำตัวกร่าง
“เต้ มงคลกิตติ์” แถลงขอโทษ “ศักดิ์สยาม” 15 วัน ฐานหมิ่นประมาท ปมโควิด-19
เปิดภาพหนุ่มหัวร้อน ขับเก๋งเบียด "จยย.ไรเดอร์" อัดเสาไฟฟ้า ดับสลด ตร.ตามรวบตัวสอบเข้ม

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น