22 รัฐในสหรัฐฯ ฟ้องศาลต้านคำสั่งทรัมป์
คำสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตัดสิทธิ์การได้สัญชาติโดยกำเนิด ถูกท้าทายจาก 22 รัฐที่อยู่ภายใต้การนำโดยพรรคเดโมแครต รวมตัวยื่นฟ้องศาล ว่าเป็นคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง เกินขอบเขตอำนาจประธานาธิบดี
หนึ่งในคำสั่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามเป็นตั้งในวันแรก หลังสาบานตนรับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 มกราคมตามเวลาท้องถิ่น คือสั่งหน่วยงานรัฐบาลกลาง ยุติการให้สัญชาติโดยกำเนิด แก่เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ หรือผู้เป็นแม่ อยู่ในสหรัฐฯด้วยวีซ่าชั่วคราว และบิดาไม่ใช่คนอเมริกันหรือผู้พำนักถาวร มีแนวโน้มกลายเป็นศึกต่อสู้ทางกฎหมายยืดเยื้อ เมื่อรัฐที่นำโดยพรรคเดโมแครต 22 รัฐ ออกมายื่นฟ้องคัดค้านทันที โดยระบุว่า คำสั่งทรัมป์ในเรื่องนี้ ละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ที่ให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่เด็กที่เกิดในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด
คำฟ้องที่แนวร่วม 18 รัฐ , เมืองซานฟรานซิสโก และ ดิสทริก ออฟ โคลัมเบีย ยื่นฟ้องต่อศาล ในวันอังคารที่ 21 มกราคม ระบุว่า ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการเขียนใหม่ หรือสั่งให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่ผ่านการแก้ไขอย่างถูกต้อง เป็นโมฆะ อีกทั้ง ไม่มีอำนาจตามกฎหมายอื่นใด ที่จะมาจำกัดสิทธิการได้รับสัญชาติสหรัฐฯโดยกำเนิด
ต่อมา มีอีก 4 รัฐที่ยื่นฟ้องคำสั่งของทรัมป์ในเรื่องเดียวกัน โดยขอให้ศาลสั่งระงับการบังคับใช้หรือปฏิบัติตามคำสั่งไว้ก่อน ทำให้รัฐที่ออกมาฟ้องคำสั่งของทรัมป์ เพิ่มเป็น 22 รัฐ
ตามคำฟ้องของ 18 รัฐ ระบุว่า เด็กราว 1 แสน 5 หมื่นคนที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ใช่พลเมือง และไม่มีสถานะทางกฎหมายในแต่ละปี อาจสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงการดูแลสุภาพพื้นฐาน การอุปถัมภ์เด็ก และการแทรกแซงในระยะเริ่มต้นสำหรับทารก เด็กวัยเตาะแตะ และนักเรียนที่พิการ เด็กเหล่านี้จะถูกเนรเทศทั้งหมดและจะกลายเป็นคนไร้รัฐ
แมททิว แพลตคิน อัยการรัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า สหรัฐอเมริกายึดหลักการพื้นฐานที่ว่า เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศนี้ คือพลเมืองอเมริกันมานานกว่า 150 ปี ความพยายามออกคำสั่งยุติการให้สัญชาติเด็กเกิดในสหรัฐแบบฝ่ายเดียวของทรัมป์ ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง ทรัมป์มีสิทธิประกาศใช้นโยบายใดก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสมสำหรับประเทศ แต่นี่เป็นการกระทำที่สุดโต่งและไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่เพียงเป็นการโจมตีกฎหมาย แต่เป็นการโจมตีโครงสร้างของประเทศอย่างแท้จริง แพลตคิน บอกด้วยว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีอำนาจกว้างขวาง แต่ไม่ใช่กษัตริย์
ด้าน เลตทิเทีย เจมส์ อัยการนิวยอร์ก กล่าวว่า คำสัญญาอันยิ่งใหญ่ของประเทศนี้ คือทุกคนที่เกิดที่นี่ เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา และสามารถบรรลุ อเมริกัน ดรีมได้ สิทธิพื้นฐานในการเป็นพลเมืองโดยกำเนิด หยั่งรากมาตั้งแต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 และถือกำเนิดมาจากยุคทาส ถือเป็นเสาหลักความมุ่งมั่นของสหรัฐฯต่อความยุติธรรม ส่วน รอบ บอนตา อัยการแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า เราพร้อมจะต่อสู้กับรัฐบาลทรัมป์สอง เพื่อให้แน่ใจว่า รัฐแคลิฟอร์เนียจะก้าวหน้าต่อไป และความก้าวหน้านั้นจะเป็นฝ่ายชนะ
รัฐเหล่านี้ขอให้ศาลออกคำสั่งเบื้องต้น เพื่อป้องกันคำสั่งของทรัมป์ มีผลบังคับใช้ จากนั้นจะหาทางทำให้คำสั่งของทรัมป์เป็นโมฆะ
นอกจากนี้ ยังมีเอ็นจีโอหลายกลุ่มใน แมตซาชูเสตส์ และ นิวแฮมเชียร์ ก็ยื่นฟ้องคัดค้านคำสั่งของทรัมป์เช่นเดียวกัน
คำฟ้องนี้อาจกลายเป็นศึกใหญ่ทางกฎหมายของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เรื่องแรก ที่ต้องไปหาข้อยุติในศาลสูงสุด เนื่องจาก 18 รัฐยื่นฟ้องในศาลกลางแมตซาชูเสตส์ ซึ่งหากต้องมีการยื่นอุทธรณ์ คดีจะไปที่ศาลอุทธรณ์เขตที่ 1 ซึ่งผู้พิพากษาทั้งหมดมาจากแต่งตั้งของฝั่งเดโมแครต ขณะที่ศาลสูงสุด ก็เคยพิพากษายืน การให้สิทธิการเป็นพลเมืองโดยกำเนิดมาโดยตลอด และยังมีกฎหมายต่างๆของรัฐบาลกลางที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะมีการให้สัตยาบันต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ในปี ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) ซึ่งบัญญัติว่า เด็กที่เกิดบนผืนแผ่นดินสหรัฐฯ มีสิทธิที่จะเป็นพลเมือง