ประธานาธิบดีทรัมป์ บอกผู้สื่อข่าวในห้องทำงานทำเนียบขาว ว่า สหรัฐฯต้องการความมั่นคงด้านแรร์เอิร์ธ ซึ่งยูเครนมีสิ่งล้ำค่านี้อยู่ และเขาต้องการให้แรร์ เอิร์ธ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลวอชิงตัน จะให้การสนับสนุนยูเครน ขณะยังทำสงครามกับรัสเซียต่อไป ทรัมป์กล่าวว่ารัฐบาลทั้งสองกำลังหารือกันในประเด็นนี้ และรัฐบาลยูเครนแสดงท่าทีว่าพร้อมจะทำความตกลงให้สหรัฐฯเข้าถึงแหล่งแรร์เอิร์ธได้ โดยผู้นำสหรัฐฯ เรียกเงื่อนไขนี้ว่า เป็นหลักประกันสำหรับวอชิงตัน
แร่ธาตุประเภท แรร์เอิร์ธ เป็นกลุ่มแร่โลหะหายาก 17 ชนิด ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และมีปริมาณไม่มากนัก ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลาย ตั้งแต่สมาร์ตโฟน ทีวี คอมพิวเตอร์ , ใช้ผลิตผลิตอัลลอยน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงในอุตสาหกรรมอวกาศ และในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น เครื่อง MRI เลเซอร์ และเวชภัณฑ์อื่นๆ ปัจจุบัน จีนคุมการผลิตแร่เอิร์ธมากที่สุดในโลก
ด้าน อาร์บีซี ยูเครน อ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานประธานธิบดียูเครน ว่า แนวคิดสกัดแร่โลหะหายากร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งของแผนแห่งชัยชนะที่ยูเครนเสนอไปก่อนหน้านี้ ยูเครนมีทรัพยากรพิเศษ รวมถึงแร่ยูเรเนียม ลิเทียม และไทเทเนียม ซึ่งสิ่งสำคัญคือจะต้องไม่ตกอยู่ในมือของรัสเซีย จึงเป็นเหตุผลที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ เสนอให้คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เป็นพิเศษ และควรได้ใช้ร่วมกับพันธมิตรสำคัญของยูเครน แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า เซเลนสกี้หยิบยกเรื่องนี้มาหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างพบปะกันที่กรุงปารีสเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
รายงานเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ปี 2567 ระบุว่า ยูเครนมีศักยภาพอย่างมหาศาลที่จะเป็นซับพลายเออร์ระดับโลกรายใหญ่ ป้อนวัตถุดิบจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว ไฮเทค และการทหาร
ยูเครนอวดว่า มีแหล่งสำรองไทเทเนียมใหญ่ที่สุดในยุโรป คิดเป็น 7% ของแหล่งสำรองทั่วโลก ก่อนทำสงครามกับรัสเซียในปี 2565 ยูเครนเป็นผู้จัดหาไทเทเนียมสำคัญให้กับอุตสาหกรรมทหาร
ยูเครนยังครอบครองแหล่งสำรองลิเทียมที่ได้รับการยืนยันแล้วว่า ใหญ่ที่สุดในยุโรป ราว 5 แสนตัน แร่ลิเทียมสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการผลิตแบตเตอรีและแอคคิวมูเลเตอร์ หรือถังสะสมพลังงาน
แร่มีค่าที่พบในยูเครน ยังได้แก่ เบริลเลียม แมกนีเซียม แกลเลียม ยูเรเนียม เซอร์โคเนียม กราไฟต์ อะพาไทต์ ฟลูออไรด์ และนิกเกิล