สปสช.เผยสิทธิ “บัตรทอง” 2565 ดูแลโควิดครบวงจร-เพิ่มสิทธิโรคอื่น

สปสช.เผยสิทธิ "บัตรทอง" 2565 ดูแลโควิดครบวงจร-เพิ่มสิทธิโรคอื่น

วันนี้ (1 ต.ค.64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงภาพรวมการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพปีงบประมาณ 2565 ว่า ปี 2565 อาจเป็นปีที่จะต้องอยู่กับโควิด-19 อีกระยะหนึ่ง ซึ่ง สปสช.ค่อนข้างมั่นใจว่าสิทธิประโยชน์ที่จัดสรรสำหรับโควิด-19 ค่อนข้างครบวงจร และตอบสนองสถานการณ์ได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจคัดกรอง

ในปี 2565 ก็จะมีกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตรวจแบบ Antigen test kit หรือการตรวจมาตรฐาน ขณะเดียวกัน เมื่อมีผลตรวจเป็นบวก สปสช.ก็มีความพร้อมมากขึ้นในการสนับสนุนการจัดระบบการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน รวมถึงการดูแลเชียวยาภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากโควิด-19 แล้ว ในโรคอื่นๆ สปสช.ก็ยังคงเพิ่มเติมในเรื่องสิทธิประโยชน์และการจัดระบบงบประมาณให้ประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนล้มละลายจากการเจ็บป่วย ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 นี้ จะมีการจัดหมวดงบประมาณให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้น หลักๆคือในส่วนของงบเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จะมีการกำหนดชัดเจนว่าเป็นสิทธิสำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ

จากเดิมที่อาจจะกำหนดไว้ไม่ชัดเจน รวมทั้งปรับระบบให้สอดคล้องกับผู้ใช้สิทธิอื่นๆที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองมากขึ้น เช่น การฝากท้อง อาจจะต้องเพิ่มหน่วยบริการ เพราะผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมอาจสะดวกในการไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด ก็จะต้องประสานกับโรงพยาบาลให้มาเรียกเก็บเงินจาก สปสช.แทน หรือรายการตรวจสุขภาพประจำปีบางรายการจะต้องขยายบริการเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะกับผู้ประกันตนซึ่งสะดวกในการไปโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของงบกองทุนส่งเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่ ก็จะมีการปรับหมวดหมู่ใหม่ จากเดิมที่รวมไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่ปีนี้จะแยกหมวดออกมาชัดเจน ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานได้ชัดเจน มีการขยายขอบเขตความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น โดยงบประมาณส่วนนี้จะนำไปร่วมกับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบูรณาการจัดกิจกรรมแก้ปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ โดย สปสช.ตั้งงบประมาณไว้ 2,800 ล้านบาท สำหรับสมทบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลนั้น จะเพิ่มเติมในหลายๆโรค ประกอบด้วย การคัดกรองโรคมะเร็งช่องปาก ซึ่งที่ผ่านมาเวลาไปรับบริการทันตกรรมอาจจะยังไม่ชัดเจนว่ามีการตรวจมะเร็งช่องปากให้หรือไม่ แต่ปีนี้ก็จะมีความชัดเจนในการตรวจมากขึ้น

อีกส่วนคือการเพิ่มสิทธิ์การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับเพื่อเป็นทางเลือกให้กับโรงพยาบาลต่างๆใช้ลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด โดยจะขยายสิทธินี้ในการผ่าตัดหลายรายการ

“การผ่าตัดวันเดียวกลับ หัตถการที่จะทำได้ส่วนหนึ่งต้องเป็นใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผ่าตัดทางกล้อง การผ่าตัดโดยใช้เทคนิคพิเศษทำให้แผลเล็ก ปีนี้มีเพิ่มขึ้นมาหลายส่วน เช่น การส่องกล้องเข้าไปดูระบบทางเดินอาหาร เข้าไปดูถุงน้ำดี กรณีที่ต้องฉีดสารเข้าไปยังสายเส้นเสียงที่มีอาการบวม การผ่าตัดตกแต่งเยื่อเเก้วหูทะลุ หรือคนไข้โรคไตที่ต้องวางสายเพื่อเตรียมล้างไตทางหน้าท้อง อีกส่วนคือการผ่าตัดที่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายๆวัน ก็จะลดวันนอนลง ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้กล้อง เช่น ผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปในถุงน้ำดี ผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปทำเรื่องไต ฯลฯ รายละเอียดโรคต่างๆเรามีการสื่อสารในช่องทางของ สปสช.เพิ่มเติมต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ป่วยเบาหวาน ปี 2565 สปสช.จะเน้นกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุน้อย หรือผู้ป่วยที่ต้องฉีดอินซูลินมากขึ้น โดยจะเพิ่มสิทธิ์เรื่องอุปกรณ์ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อให้ผู้ป่วยตรวจด้วยตัวเองที่บ้าน รวมทั้งอุปกรณ์ติดตามระดับน้ำตาลที่พกติดตัวตลอดเวลา

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ป่วยมะเร็งจะมีการพิจารณาเรื่องยาและมาตรฐานการรักษามะเร็งใหม่ ปีที่ผ่านมา สปสช.มีโครงการมะเร็งไปรักษาที่ไหนก็ได้ที่มีความพร้อม ปีนี้จะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทุกสาขาพิจารณาว่ายาและเวชภัณฑ์ที่ให้ไป มีความพร้อมหรือต้องเพิ่มเติมอย่างไร เชื่อว่าผู้ป่วยจะเพิ่มการเข้าถึงยาที่จำเป็นมากขึ้น และกรณีผู้ป่วยลิ่มเลือดในสมองอุดตัน เดิมมีสิทธิการฉีดยาละลายลิ่มเลือด ปีนี้จะเพิ่มสิทธิในเรื่องการทำหัตถการที่ใช้สายสวนหรือขดลวดเพื่อช่วยทะลวงจุดที่อุดตันด้วย

“การเพิ่มสิทธิประโยชน์การบริการ สปสช.มองถึงความพร้อมของระบบบริการในพื้นที่ต่างๆ เช่น จะให้บริการผ่าตัดทางกล้อง ทุกพื้นที่ก็ต้องเข้าถึงบริการ ซึ่งตอนนี้ทั่วประเทศมีเครื่องมือ มีหมอที่มีความเชี่ยวชาญ สปสช.ก็ปรับระบบสิทธิประโยชน์เหล่านี้ อีกเรื่องคือการจ่ายเงินค่าบริการ เดิมยิ่งนอนนานยิ่งได้เงินเยอะ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าการที่ผู้ป่วยมานอนไม่กี่วันแล้วกลับ ค่าใช้จ่ายถึงแม้จะดูเหมือนจะน้อย แต่ต้องสร้างแรงจูงใจให้หน่วยบริการยังคงให้บริการตรงนี้เพื่อที่ประโยชน์สุดท้ายจะตกกับพี่น้องประชาชน” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทิศทางในอนาคต สปสช.ยังคงหลักการว่าทำให้คนเข้าถึงบริการที่จำเป็นและไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย ดังนั้นจะเห็นว่าบริการหลายอย่างที่ราคาแพง สปสช.ก็เพิ่มเติมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ หรือแม้จะเป็นราคาถูกอย่างบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก็ต้องกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการด้วย ทุกๆปี สปสช.จะต้องพิจารณาใน 2 ปัจจัยนี้เสมอ

ขอบคุณ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ฉาว "ชาวบ้าน" ยันเห็น "หลวงตา" ล็อคห้องอยู่กับสีกา สองต่อสอง อ้างชวนไปนับขวด ก่อนเผ่นหนีไปอยู่อีกวัด
5 วิลล่าที่ดีที่สุด บนเกาะสมุย สำหรับการพักผ่อนสุดหรู
ผุดไอเดีย สุดเจ๋ง ติดตั้งนวัตกรรมประดิษฐ์รั้วไฟฟ้าแรงต่ำ 12 โวลท์ ป้องกันภัยช้างป่า
ปราบปราม เด็กแว้นอันธพาลครองเมือง
จบด้วยดี!! ปัญหาเงินทอดกฐินกว่า 1 ล้านบาท ”วัดหนองนกเมืองคอน” จบชื่นมื่น
พบเด็กแฝดตาสีฟ้า แม่ยอมรับรู้สึกท้อ ลูกถูกล้อเลียน ซ้ำมิจฉาชีพนำรูปไปแอบอ้างเปิดรับบริจาค
"ทนายเดชา" เชื่อ "ทนายตั้ม" พร้อมสู้คดี เคยพูดคุยมีหลักฐานแชทสนทนา
ททท.โคราช ชวนสัมผัส “เทศกาลเที่ยวพิมาย 2567” ตื่นตาตื่นใจการแสดงแสง สี เสียงเทคนิคพิเศษสุดตระการตา
“ออยศรี” เข้าให้ข้อมูลคดีของทนายตั้ม เจ้าตัวเชื่อ “เจ๊อ้อย” ไม่ได้ให้เงินด้วยความเสน่หา
กล้าล้วงคองูเห่า!! แก๊งมิจฉาชีพอ้างชื่อผู้การฯเมืองคอนโทรหลอกนักข่าวใหญ่ขอความช่วยเหลือยืมเงิน 36,000 บาท

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น