อัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี เปลี่ยนหลักการว่าด้วยแนวทางการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ห้ามใช้ ไปในทางที่มีแนวโน้มก่ออันตราย
บล็อกโพสต์ ที่ เจมส์ แมนยิกา ( James Manyika) รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัย เทคโนโลยีและสังคมของกูเกิล และ เดมิส ฮัสซาบิส ( Demis Hassabis) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ ดีปมายด์ ห้องแลบ AI ของกูเกิล ร่วมกันผยแพร่บนเวบไซต์ของกูเกิล ให้เหตุผลการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า ภาคธุรกิจและรัฐบาลประชาธิปไตย จำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อใช้เอไอ สนับสนุนความมั่นคงของชาติ
ผู้บริหารทั้งสอง ระบุว่า หลักการเอไอดั้งเดิมของกูเกิล ที่เผยแพร่เมื่อ 6 ปีก่อน จำเป็นต้องปรับตามวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ปัจจุบัน ผู้คนหลายพันล้านใช้เอไอในชีวิตประจำวัน เอไอกลายเป็นเทคโนโลโยที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป และเป็นแพลตฟอร์มที่องค์กรและบุคคลนับไม่ถ้วน ใช้เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น เอไอขยับจากหัวข้องานวิจัยเฉพาะกลุ่มในห้องแลบ เป็นเทคโนโลยีใช้อย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต
ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญเอไอและคนทำงานในแวดวง ว่า ควรกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ทรงพลังนี้อย่างไรในวงกว้าง ,ควรให้ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เป็นตัวกำหนดทิศทางได้ในระดับใด และจะป้องกันความเสี่ยงต่อมนุษยชาติอย่างดีที่สุดได้อย่างไร ยังไม่รวมกับการถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ AI ในสนามรบ และในด้านการสอดแนม
แต่บริษัทเชื่อว่า รัฐบาลประชาธิปไตยควรเป็นผู้นำในการพัฒนาเอไอ โดยยึดค่านิยมหลัก อย่างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และการเคารพสิทธิมนุษยชน ในขณะที่กำลังมีการแข่งขันกันในระดับโลกเพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำเอไอ ในภูมิทัศน์การเมืองที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยบริษัท รัฐบาล และองค์กรต่าง ๆ ที่ยึดค่านิยมเหล่านี้ ควรทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ AI เพื่อปกป้องประชาชน ส่งเสริมการเติบโตของโลก และสนับสนุนความมั่นคงของชาติ
กูเกิล เผยแพร่หลักการ AI ครั้งแรกในปี 2018 หลายปีก่อนที่เทคโนโลยีนี้จะแพร่หลายไปทั่ว การปรับปรุงครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนค่านิยมแบบพลิกโฉม จากหลักการที่เผยแพร่ครั้งแรก
ในปีนั้น กูเกิล ยกเลิกสัญญาทำระบบ คลาวด์ คอมพิวติ้ง กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถรับประกันได้ว่า สัญญาฉบับนี้จะสอดคล้องกับหลักการเอไอของบริษัท และเกิดขึ้นหลังจากพนักงานกว่า 4 พันคน ลงนามในคำร้อง ให้บริษัทวางนโยบายให้ชัดเจนว่า กูเกิล และคู่สัญญา จะไม่พัฒนาเทคโนโลยีสงคราม