สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ก่อนเวลาประมาณ 2 นาฬิกา วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ทีมงานของไอเออีเอ ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ได้ยินเสียงระเบิดดังมาจากโดมรักษาความปลอดภัยใหม่ หรือ NSC (New Safe Confinement) ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่สร้างครอบซากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งหลังจากนั้นว่า มีโดรนลำหนึ่งโจมตีหลังคา NSC
ด้าน ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน โพสต์ X อ้างว่า โดรนรัสเซียติดหัวรบระเบิดแรงสูง โจมตีโดนโดมปกป้องโลกจากสารกัมมันตรังสี จากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนยูเครนกับเบลารุส หลังคาโดมได้รับความเสียหาย และเกิดเหตุไฟไหม้ แต่ดับได้แล้ว ประเมินเบื้องต้นพบความเสียหายที่ตัวโดมอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนสำนักงานบริการฉุกเฉินยูเครน แจ้งว่า ระดับสารกัมมันตรังสีอยู่ในเกณฑ์ปกติ
เซเลนสกี้ กล่าวว่า การส่งโดรนโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนทุกคืน สะท้อนว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่พร้อมเข้าสู่การเจรจา และกำลังเตรียมการหลอกลวงชาวโลกต่อไป
โพสต์ของเซเลนสกี้ มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่เขามีกำหนดพบปะกับรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ ของสหรัฐฯ ระหว่างร่วมประชุมความมั่นคงมิวนิค ขณะที่รัสเซียยังไม่แสดงความเห็น
กองทัพอากาศยูเครนรายงานว่า ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ตามเวลาท้องถิ่น รัสเซียส่งโดรนโจมตียูเครน 133 ลำ จำนวนนี้ถูกยิงตก 73 ลำใน 11 ภูมิภาค อีก 58 ลำไปไม่ถึงเป้าหมาย ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยจำนวนการโจมตีด้วยโดรนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยังอ้างว่า มีโดรนโจมตีหลายลำพุ่งเป้าภูมิภาคทางเหนือของประเทศ ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลตั้งอยู่
คลิปจากกล้องวงจรปิดที่เซเลนสกี้นำมาแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ เผยให้เห็นนาทีเกิดระเบิดที่ด้านข้างของโครงสร้างครอบเตาปฏิกรณ์ เกิดไฟไหม้เล็กน้อยและมองเห็นรูโหว่บนหลังคา ขณะที่พนักงานดับเพลิงฉีดน้ำดับไฟ ไอเออีเอแจ้งว่า ระดับสารกัมมันตรังสีทั้งภายในและด้านนอก ยังปกติและคงที่ แต่ยังเฝ้าระวังระดับสูงต่อไปหลังเกิดเหตุ
ไอเออีเอ มีทีมเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล มาตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเต็มรูปแบบในช่วงแรกๆ และออกมาเตือนหลายครั้งหลายหนถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น จากการสู้รบใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล จุดที่เคยเกิดหายนะภัยนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 เกิดระเบิดในปี 2529 ส่งเมฆหมอกกัมมันตรังสีกระจายไปทั่วยุโรปและหลายพื้นที่ของสหภาพโซเวียต ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2559 มีการก่อสร้างโครงสร้างเหล็กและคอนกรีตเป็นโดมขนาดยักษ์ ครอบซากเตาปฏิกรณ์ไว้เพื่อป้องกันการรั่วไหลในอนาคต โครงสร้างดังกล่าวมีความกว้าง 275 เมตร สูง 108 เมตร ใช้กองทุนนานาชาติก่อสร้าง 1 พัน 600 ล้านดอลลาร์