ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามคำสั่งชื่อ “แผนตอบโต้และเป็นธรรม” ที่จะนำไปสู่การตั้งภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากคู่ค้าแบบเก็บมาเก็บกลับ ยกระดับสงครามการค้าอย่างกว้างไกล แม้มีเสียงเตือนว่าอาจกระพือเงินเฟ้อในประเทศ ทรัมป์ กล่าวระหว่างลงนามที่ทำเนียบขาว ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ว่า บ่อยครั้ง พันธมิตร เลวร้ายยิ่งกว่าศัตรูเสียอีกในแง่การค้า และว่าประเทศใดก็ตามที่เก็บภาษีสหรัฐฯ เราก็จะเรียกเก็บกลับคืน และเจาะจงไปที่สหภาพยุโรป หรือ อียู ว่า ดำเนินความสัมพันธ์การค้ากับสหรัฐฯ อย่าง โหดเหี้ยมที่สุด
ตามคำสั่งของทรัมป์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ จะเสนอแนวทางแก้ไขเป็นรายประเทศ แผนการที่ลงนามครั้งนี้ จะสร้างหลักประกันความยุติธรรมและความสมดุลครอบคลุมทั้งระบบการค้าระหว่างประเทศ
โฮเวิร์ด ลัตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวว่า การศึกษาแต่ละประเทศ น่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เมษายน และประธานาธิบดีอาจเริ่มประกาศใช้อัตราภาษีใหม่ เร็วที่สุดในวันถัดไป ( 2 เมษายน )
ด้านเจ้าหน้าที่ทำเนียบ บอกนักข่าวแบบไม่เปิดเผยนามว่า การเก็บภาษีจะปรับให้เหมาะสมกับคู่ค้าแต่ละราย โดยจะพิจารณาภาษีศุลกากรที่อีกฝ่ายเรียกเก็บจากสินค้าของสหรัฐฯ ควบคู่กับภาษีที่ถือเป็น “การเลือกปฏิบัติ” อย่างภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย รัฐบาลวอชิงตันจะเริ่มตรวจสอบประเทศคู่ค้า ที่สหรัฐฯเสียเปรียบดุลการค้ามากที่สุด หรือ มีปัญหาร้ายแรงที่สุด ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน
ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์ กล่าวก่อนผู้นำสหรัฐฯลงนามว่า ประเทศส่งออกรายใหญ่ของโลก โจมตีตลาดของเรา ทั้งด้วยภาษีนำเข้าเข้มงวด และอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่เลวร้ายยิ่งกว่า
นอกจากสหภาพยุโรปแล้ว ทำเนียบขาวยังชี้ความแตกต่างในเรื่องอัตราภาษีนำเข้าอย่างมาก กับอินเดีย และบราซิล ส่วนญี่ปุ่น ก็มีกำแพงการค้าเชิงโครงสร้างสูงเช่นกัน
นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การเก็บภาษีสินค้านำเข้า จะฉุดอัตราเงินเฟ้อ และกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด ทรัมป์ยอมรับว่า ราคาข้าวของอาจแพงขึ้น แต่มั่นใจว่าสุดท้ายก็จะถูกลง
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ย้ำว่า สหรัฐฯได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และเพราะไม่มีภาษีศุลกากรตอบโต้นี้เอง จึงเป็นเหตุผลให้สหรัฐฯขาดดุลการค้ามหาศาลต่อเนื่อง และแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว อย่าง อียู เก็บภาษีรถยนต์อเมริกัน 10% ขณะที่สหรัฐฯเรียกเก็บแค่ 2.5% แต่ ฌอน เบรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายมูลนิธิภาษียุโรป ชี้ว่า สหรัฐฯเก็บภาษีสินค้าอื่นในอัตราสูงกว่า เช่น ภาษีนำเข้ารถกระบะ ในอัตรา 25%
ทรัมป์ยังวิจารณ์ ที่บางประเทศในยุโรป เก็บ VAT กับสินค้าบางรายการ สูงถึง 20% แต่นักวิเคราะห์หลายคน ชี้ว่า การกล่าวว่า VAT เป็นการสร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ยังเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอยู่
นักวิเคราะห์เตือนว่า ภาษีนำเข้าตอบโต้ อาจกระทบเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างอินเดีย และไทย ที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯในอัตราที่สูงกว่ามาก ส่วนเกาหลีใต้ เสี่ยงน้อยกว่าเพราะมีข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลายฉบับ คริสตีน แมคแดเนียล จากศูนย์ เมอร์คาทัส องค์กรคลังสมองด้านตลาดเสรี อดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวว่า คำสั่งของทรัมป์ บีบบังคับประเทศต่าง ๆ ต้องมาเจรจาตารางภาษีศุลกากรกันใหม่กับรัฐบาลวอชิงตัน แผนการนี้จะออกมาดี หากประเทศต่าง ๆ เข้ามาเจรจา แต่หากพวกเขาปฏิเสธ และสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าจริง ก็จะส่งผลเสียกับสหรัฐฯ เพราะผู้นำเข้า จะต้องเผชิญกับราคาที่สูงขึ้น