รู้ทันกลโกง! มิจฉาชีพตุ๋นแรงงานไทยไปทำงาน ตปท.

กดติดตาม TOP NEWS

แรงงานไทยหลายคนใฝ่ฝันอยากไปทำงานต่างประเทศ ด้วยหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น มีเงินทองส่งกลับบ้าน เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสุขสบาย แต่ความฝันที่สวยงามนี้ กลับกลายเป็นฝันร้าย เมื่อพวกเขาตกเป็นเหยื่อเล่ห์กลโกงของมิจฉาชีพ หลอกไปทำงานต่างประเทศ ไปติดตามได้จากรายงานนี้

ปัจจุบัน แรงงานไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น งานที่หายาก หรือความมั่นคงในอาชีพที่ลดลง ทำให้การมองหาโอกาสทำงานต่างประเทศกลายเป็นทางเลือกที่หลายคนให้ความสนใจ แต่ทว่า ภายใต้ความหวังนั้น กลับแฝงไปด้วยอันตรายจากขบวนการมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสใช้ช่องโหว่นี้ล่อลวงแรงงาน

กลโกงที่มิจฉาชีพมัก “วางเหยื่อล่อปลา” เพื่อใช้หลอกแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยทั่วไปที่พบได้บ่อย คือ

– ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Line หรือ Instagram โฆษณาตำแหน่งงานต่างประเทศที่น่าสนใจ พร้อมค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สูงเกินจริง เพื่อดึงดูดความสนใจ อาทิ ไปทำงานเกษตรในออสเตรเลีย / งานนวดสปาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
– สร้างความน่าเชื่อถือ โดยการปลอมแปลงเอกสาร เช่น ใบอนุญาตจัดหางาน หรือสร้างเรื่องราวที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับบริษัทหรือตำแหน่งงานนั้นๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ
– เรียกค่าใช้จ่ายล่วงหน้า มิจฉาชีพมักเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าวีซ่า ค่าตั๋วเครื่องบิน หรือค่าดำเนินการต่างๆ ก่อนที่เหยื่อจะได้เดินทางไปทำงานจริง
– และ เมื่อเหยื่อจ่ายเงินไปแล้ว มิจฉาชีพมักจะติดต่อยาก หรือไม่สามารถติดต่อได้เลย ทำให้เหยื่อไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ตามที่ตกลงไว้

กรมการจัดหางาน ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและคุ้มครองแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ จึงออกมาตรการป้องกัน รับมือมิจฉาชีพหลอกลวงแรงงานไทย โดยจัดชุดตรวจสอบและเฝ้าระวัง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์วิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งเผยแพร่ข่าวสารพฤติกรรมนายหน้าเถื่อนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ

โดยแนวทางป้องกันแรงงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ในการหางานต่างประเทศสามารถทำได้หลายแนวทาง อาทิ

– ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ตรวจสอบข้อมูลของบริษัทจัดหางาน หรือผู้ที่ชักชวนไปทำงานอย่างละเอียด เช่น ชื่อบริษัท ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ เว็บไซต์ หรือใบอนุญาตจัดหางาน
– อย่าหลงเชื่อคำหรือข้อความโฆษณาอวดอ้างเกินจริง ไม่ว่าจะเป็น การหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ หรือจากบุคคลที่ชักชวนไปทำงาน
– ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สถานทูตของประเทศนั้นๆ เพื่อขอข้อมูลที่ถูกต้อง
– อย่าจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับบริษัทจัดหางาน หรือผู้ที่ชักชวนไปทำงาน จนกว่าจะแน่ใจว่าข้อมูลถูกต้องและเชื่อถือได้ และควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่จะไป เช่น กฎหมายแรงงาน ค่าครองชีพ สภาพการทำงาน หรือวัฒนธรรม

ปัญหาหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อสร้างความปลอดภัยสำหรับแรงงานไทยในการหางานต่างประเทศ โดยหากพบเห็นโฆษณาที่น่าสงสัยในสื่อออนไลน์ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึงพื้นที่ 10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 และสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น