‘Super AI Engineer Season 5’ รวมพลังรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ปั้นบุคลากร AI เสริมขีดความสามารถแข่งขันไทย – Top News รายงาน
เพราะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทสำคัญมากในโลกยุคปัจจุบัน ความรู้และทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น การพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย อันจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย โครงการ Super AI Engineer จึงได้เกิดขึ้น และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT) ได้จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภายใต้โครงการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดนวัตกร วิศวกร และนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว (Super AI Engineer Season 5)
ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในงาน พร้อมกับการกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “แนวทางนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Disruption)”
นอกจากนี้ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “บพค. กับ การพัฒนาคนสมรรถนะสูงด้านปัญญาประดิษฐ์”, ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ปาฐกถา ในหัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์กับการพัฒนาคนเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน”
และการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์จะช่วยประเทศไทยได้อย่างไร ? โดย ดร.ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Chief Innovation Officer, SCBX, คุณอำนาจ สิงหจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ซึ่งภายในงาน ได้สะท้อนถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ, ภาคเอกชน, และภาคประชาสังคม อย่างแท้จริง โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งจากหน่วยงานที่ดำเนินโครงการ Super AI Engineer Season 5 และหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุน มาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก อาทิ ผศ.ดร.นงนุช เกตุ้ย หัวหน้าโครงการ Super AI Engineer Season 5, ผู้บริหารจาก LG, SCBX, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด, AXONS Corporate, เดอะไพน์ รีสอร์ท, บริษัท อัลโต้เทค โกลบอล จำกัด, SCG, บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด, บริษัท ทัชเทค โซลูชั่น จำกัด, ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภูมิภาค 5 ศูนย์ และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย, ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC, สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), ธนาคารแห่งประเทศไทย, โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน, สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เป็นต้น

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัญหาด้าน AI ของประเทศไทย พบว่ามี 2 ปัญหาหลัก คือ การขาดแคลนบุคลากรและการประยุกต์ใช้ AI ยังมีน้อย รวมไปถึงแผนพัฒนา ทางกระทรวง อว. จึงได้กำหนดนโยบาย อว. for AI มุ่งเน้นการดำเนินการใน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. AI for Education : การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุด 2. AI Workforce Development : การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน และ 3. AI Innovation : การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากดูข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ปัจจุบันมีการขาดแคลนคนทำงานด้าน AI กว่า 8 หมื่นคน แต่คน AI กว่าครึ่งไม่ได้ทำงานด้าน IT และธุรกิจยังมีความต้องการจ้างคนไปทำวิจัยพัฒนาในสัดส่วนที่สูงที่สุด (ร้อยละ 35)

ในขณะที่ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. เน้นย้ำว่า วิสัยทัศน์ของ บพค. ที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ส่งเสริม สานพลัง ระบบ ววน. ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและงานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทยสู่อาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ อว. ด้าน AI Workforce Development ดังนั้น การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศแบบ demand driven ให้พร้อมรับการ disruption ของโลก จึงมีความสำคัญ ซึ่งเห็นได้จากการสนับสนุนทุนด้านพัฒนากำลังคน ด้าน AI ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการ AI for All โดยเฉพาะโครงการ Super AI Engineer ได้พัฒนาวิศวกรด้าน AI และกลุ่มผู้ใช้เครื่องมือ AI Tools (AI Beginner/Prompt Engineer) จำนวนมาก โดยจากข้อมูลสถิติของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปีการศึกษา 2565-2566 มีบัณฑิตที่จบหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยตรง ไม่ถึง 500 คน โครงการ Super AI Engineer จึงมีส่วนในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนทำงานด้าน AI

ด้าน รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ในบทบาทของ บพท. มุ่งเน้นการสร้างงาน เพื่อต่อยอดกำลังคนด้าน AI ที่มีอยู่สู่ชุมชน หรือ AI Localization ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนากำลังคน จาก บพค. สู่การสร้างงาน ในชุมชน ด้วย บพท.
โครงการ Super AI Engineer Season 5
สำหรับโครงการ Super AI Engineer ในปีนี้เป็น Season ที่ 5 แล้ว ซึ่งตั้งแต่ Season 1-4 ที่ผ่านมา ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการรวมมากกว่า 33,000 คน และ Super AI Engineer Season 5 นี้ เป็นการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมได้จริง มีศักยภาพทัดเทียมระดับสากล ภายใต้กำลังคน 3 กลุ่ม ได้แก่ นวัตกร (AI Innovator) วิศวกร (AI Engineer) และนักวิจัยระดับสูง (AI Researcher) พร้อมต่อยอดเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (AI Solopreneur/AI Entrepreneur) และเป็นผู้มีทักษะในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ได้ (AI Instructor) รวมไปถึงการพัฒนาระบบนิเวศการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Workforce Development Ecosystem) และกระตุ้นความสนใจและเกิดความร่วมมือเข้าสู่การพัฒนาศักยภาพปัญญาประดิษฐ์ให้กับประชาชนทุกระดับ และสุดท้ายเป็นการสร้างกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพด้านปัญญาประดิษฐ์ เชื่อมโยงไปยังธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ที่มีอยู่ ให้รองรับการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง
ทั้งนี้โครงการได้รับความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานหลัก เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมได้แก่ 1. สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) 2. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT)

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) กล่าวว่า “ด้วยพันธกิจของสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Ecosystem นั้น กำลังคน จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการขับเคลื่อน ดังนั้น การสร้างและพัฒนา ให้คน มีความรู้ มีการพัฒนาความสามารถ ด้าน AI และเป็นคนที่มีมาตรฐานตามสมรรถนะของบุคคลในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยสมาคม ฯ เป็นสื่อกลางในการดำเนินงาน ซึ่งส่งผลให้ประเทศมีความเข้มแข็ง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ของประเทศไทย ได้อย่างยั่งยืน”